สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง ออกโรงสนับสนุนนโยบายแร่ของรัฐ

28 มิ.ย. 2563 | 04:44 น.

สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง(สรว.) กระทุ้งรัฐ หลังผู้ประกอบการเหมืองแร่และวัสดุก่อสร้างยื่นข้อเสนอให้เร่งพิจารณาทบทวนตีความกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมจี้รัฐควรสนับสนุนภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคช่วงโควิดเพื่อให้เกิดการจ้างงาน

ตามที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ(คนร.) ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบให้ปรับปรุงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่20ปี (พ.ศ.2560-2579) และเปลี่ยนแปลงเป็นยุทธศาสตร์ฯ20ปี (พ.ศ 2561-2580) เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ


 โดยเร่งรัดดำเนินการอย่างเร่งด่วนมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีประสิทธิภาพ และต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนภายใต้ New Normal และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 


ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง(สรว.) กล่าวว่า  ทางสมาคมฯมีความยินดีที่เสียงเรียกร้องและข้อเสนอต่างๆจากสมาคมฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับการขานรับจากรัฐบาล โดยเฉพาะ คนร.ได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเหมืองแร่และวัสดุก่อสร้าง  ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  ลูกจ้างและภาคประชาชนในพื้นที่

ขณะเดียวกันได้มีข้อเสนอจากผู้ประกอบการเหมืองแร่และวัสดุก่อสร้างมายังสมาคมฯ โดยยังคงเน้นย้ำให้ภาครัฐเร่งพิจารณาทบทวนตีความกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  อันเนื่องมาจากคำสั่ง คสช.ที่ 31/2560 ซึ่งทางสมาคมฯได้นำเสนอปัญหาและทางออกไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว


 “เรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้รับทราบปัญหาเป็นอย่างดีและก็เข้าใจปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบอยู่  สมาคมฯเชื่อว่าเมื่อรมต.รับฟังแล้วจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้เพื่อให้ผู้ประกอบการสินแร่และวัสดุก่อสร้างได้มีส่วนร่วมในการกอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติจากภาวะวิกฤติในปัจจุบัน” 
 

ดร.วิจักษ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด -19  สมาคมฯได้เตือนแล้วว่าจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง  รัฐบาลต้องมีแผนรับมือระยะยาวในด้านเศรษฐกิจ  ถึงวันนี้แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี  แต่รอบบ้านและทั่วโลกยังมีการแพร่ระบาดระลอก 2  รายงานล่าสุดมีการติดเชื้อสะสมทั้งโลก 9.7 ล้านคน  เสียชีวิตรวมเกือบ 5 แสนคน  สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลต่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การจ้างงาน แม้รัฐบาลไทยจะคลายล็อกธุรกิจแต่ก็ยากจะฟื้นตัวในเวลาอันสั้น


“มองภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังน่าเป็นห่วงมาก องค์การการค้าโลกหรือ WTO แจ้งว่าปริมาณการค้าโลกไตรมาส2ของปีนี้หดตัวลงถึง 18.5% และอาจเลวร้ายยิ่งขึ้นอีกโดยคาดหมายตลอดทั้งปี 2563 จะหดตัวลง 13-32%  ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมิน GDP โลกปีนี้จะติดลบ 4.9% และเศรษฐกิจโลกจะเสียหายย่อยยับคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 370 ล้านล้านบาทในช่วง 2 ปี
 

สำหรับประเทศไทยฝ่ายบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่งกล่าวยอมรับว่าในครึ่งปีหลังยังจะมีบริษัทปิดกิจการลงอีก เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมก็จะปิดโรงงาน ทำให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างอีกจำนวนมากประมาณ 2 ล้านคน  เพราะผลิตสินค้าแล้วส่งออกขายต่างประเทศไม่ได้  แรงงานจะไหลกลับถิ่นอีกจำนวนมาก  นี่จึงเป็นเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจออกมาล่าสุดว่า GDP ปี2563จะติดลบ 8.1% ซึ่งสาหัสกว่าสถานการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักบอกว่าอาจจะติดลบถึง 10%


นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างให้ความเห็นว่าการกอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคนี้ต่างจากปี 2540 มาก เพราะปี 2540 เป็นปัญหาสถาบันการเงินและปัญหาสินเชื่อ  แต่ยุคนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขทุกด้านทุกระดับทั้งระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีผลให้คนตกงานถึง 8.4 ล้านคน  แต่งบ 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลบอกว่าจะใช้อัดฉีดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยังมีขั้นตอนมากมายและอาจจะไม่ทันความต้องการของประชาชนที่จะเดือดร้อนมากขึ้น


 ดังนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนหาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อเปิดทุกช่องทางที่จะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจเพื่อเร่งให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากเมื่อประชาชนมีงานทำมีรายได้ มีกินมีใช้ สถานการณ์ก็จะค่อยๆคลี่คลายดีขึ้นได้