ตลาดบ้านสร้างเอง  ตํ่าสุดรอบ 10 ปี  จี้รัฐเร่งกระตุ้นศก.

29 มิ.ย. 2563 | 23:55 น.

“โควิด” กระทบ ความเชื่อมั่นลูกค้าธุรกิจรับสร้างบ้าน คาดทั้งปีหดตัว  10-15% ต่ำสุดในรอบมากกว่า 10 ปี วอนรัฐเร่งอัดเม็ดเงิน 4 แสนล้านเข้าระบบ หวังกระตุ้นความต้องการ นายกสมาคมฯเปรย เป็นธุรกิจที่รัฐมองข้าม เหตุไม่มีตัวเลขจัดเก็บแสดงสถานะตลาด เล็งประสาน REIC เข้ามามีบทบาทช่วยเป็นกระบอกเสียง

หากการซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมในภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นการจับจ่ายของผู้บริโภคภาคครัวเรือน สร้างเงินหมุน เวียนในระบบเศรษฐกิจไทย แต่ละปีทั่วประเทศแตะ 2 แสนล้านบาท นับเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันจีดีพีไทยให้งอกเงยนั้น ตลาดบ้านสร้างเอง ซึ่งมีมูลค่าไม่ได้หย่อนยานต่อกันรวม 1.4-1.5 แสนล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมาก็คงมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน แต่กลับถูกพูดถึงน้อยครั้ง “ฐานเศรษฐกิจ” พบสัญญาณในตลาดดังกล่าว ที่หมายรวมไปถึง บ้านที่ถูกสร้างโดยผู้รับเหมาขนาดใหญ่-รายย่อย , บ้านที่ถูกพัฒนาโดยกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้าน, บ้านน็อกดาวน์, บ้านเก่ารีโนเวตใหม่ มีความน่าเป็นห่วง ไม่แตกต่างจากภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญคลื่นอุปสรรค แนวโน้มกำลังซื้อหดตัวจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนคาดทั้งปีอาจหดตัวติดลบมากกว่า 15% 

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า มรสุมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด จากการเกิดขึ้นของโควิด-19 นั้น ได้ทำให้ภาพรวมของธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก หดตัวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20-30% หลังจากต้องหยุดการดำเนินกิจกรรมทางตลาดต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการจัดงานใหญ่ ที่ต้องเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี (งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo2020)ทำให้ยอดซื้อ (ยอดจอง) ของลูกค้าหายไปนับ 90% แม้มีการปรับแผนตั้งรับจัดงานแบบออนไลน์ทดแทน แต่ก็มียอดเกิดขึ้นเพียง 125 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมต้องได้เฉลี่ยต่ำๆ ประมาณ 1 พันล้านบาท ทำให้คาดการณ์การเติบโตของตลาดที่ไม่ได้หวือหวา แต่เป็นอย่างค่อยไปค่อยไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยรายได้รวมไต่ระดับจาก 1.1 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2560 โตขึ้นมา 1.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 ขณะปี 2562 มีรายได้เติบโตที่ 1.25 หมื่นล้านบาท และประเมินทั้งปี 2563 ว่าอาจเติบโตขึ้นได้อีกไม่ต่ำกว่า 7-10% นั้นอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

เพราะแม้เป็นตลาดที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการขอสินเชื่อ โดยมีเงินออมบางส่วนเป็นทุนตั้งต้น และมีที่ดินเป็นของตัวเองใช้เป็นหลักประกันชิ้นเอกกับสถาบันการเงิน แต่ปัจจัยคาดเดาไม่ได้ อย่างโอกาสที่โรคอาจจะกลับมาระบาดใหม่ระลอก 2 ก็ยังไม่สามารถดึงความมั่นใจของลูกค้ากลับมาได้เต็ม 100% แม้จะเตรียมอัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อหวังฟื้นยอดให้กลับมา แต่คาดตลอดทั้งปี ตลาดอาจติดลบ 10-15% ต่ำสุดในรอบมากกว่า 10ปี รอคอยเพียงความหวังใหม่ กรณีรัฐบาลประกาศแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่จะเข้ามากระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจและหนุนให้ทุกธุรกิจมีแรงขับเคลื่อนต่อไป 

วรวุฒิ กาญจนกูล

“ตลาดบ้านสร้างเองหลาย 10 ปี ไม่เคยอ่อนไหว เพราะสร้างตามความต้องการ เป็นตลาดที่ไม่โตแต่ไม่ตก ไม่เหมือนตลาดบ้านหรือคอนโดฯ เสี่ยงต่อซัพพลายเกิน ขณะแบงก์เองตอบรับสูง กู้ง่ายผ่านเร็ว ต่างการันตีว่าเป็นตลาดที่ยังไปต่อได้ แต่วิกฤติโควิด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้ง วิถี New Normal เข้ามามีอิทธิพลไม่น้อยในแง่การตัดสินใจ มองแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน มีผลต่อความรู้สึกลูกค้า และมีโอกาสที่เม็ดเงินจะกระตุ้นหมุน เวียนเข้ามาในมือประชาชนผ่านการลงทุนโปรเจ็กต์ต่างๆ ฟื้นความต้องการให้มีมากขึ้น”

นายวรวุฒิ ยังกล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้ผู้ประกอบการในสมาคม ยังไม่ได้รับผลกระทบมากจนส่งผลต่อสภาพคล่อง เลย์ออฟพนักงานภายในอย่างที่เกิดขึ้นในผู้พัฒนาอสังหาฯบางราย แต่หากปีนี้ตลาดหดตัวแรง ก็มีโอกาสที่ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับบางบริษัทในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป 

นอกจากนี้ ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจ สมาคมได้แจ้งไปยังสมาชิก ให้เร่งจัดการกับการบริหารต้นทุนให้เหมาะสม โดยเฉพาะส่วน “รั่วไหล” หน้างาน เช่น วัสดุ ตะปู เหล็ก ซึ่งสามารถควบคุมต้นทุนได้มากกว่าส่วนอื่นๆ ทั้งจะช่วยลดต้นทุนไปได้ประมาณ 5% หากจัดการได้ ก็อาจทำให้บริษัทนั้นๆอยู่รอดต่อไปได้ 

อีกประการสำคัญ นายกสมาคม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดบ้านสร้างเอง ซึ่งมีมูลค่าต่อปีสูงไม่ได้แตกต่างจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ กระจายตัวส่วนใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนแค่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาทนั้น (สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านมีแชร์ต่อปีประมาณ 1.2หมื่นล้านบาท)  ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ แต่มักถูกละเลยให้ความสำคัญ หรือได้รับการกระตุ้นจากภาครัฐ เนื่องจาก ที่ผ่านมา ไม่มีตัวเลขจัดเก็บ ต่างจากตลาดอสังหาฯ ซึ่งมีทั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ และบริษัทที่ปรึกษาอสังหาฯของเอกชน คอยจัดเก็บตัวเลขการเปลี่ยนแปลงและวิเคราะห์ตลาดเป็นระยะๆ ส่งต่อข้อเรียกร้องไปยังรัฐ และได้รับมาตรการสนับ สนุนเรื่อยมา ในการนี้เองสมาคม อยู่ระหว่างปรึกษาหารือกับสมาชิก เพื่อสร้างแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลตัวเลขต่างๆให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปร้องขอให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เข้ามามีส่วนจัดเก็บข้อมูลสำคัญ เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563