ฟันธง!กนง. คงดอกเบี้ย ตุนกระสุนรับเสี่ยงครึ่งปีหลัง

24 มิ.ย. 2563 | 02:30 น.

กูรูชี้โจทย์ใหญ่ กนง. คุมคุณภาพ สินเชื่อ ดูแลความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คาดคงดอกเบี้ยนโยบาย เก็บกระสุนที่มีจำกันใช้ครึ่งปีหลัง ห่วงโควิดระบาดรอบ 2 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

ตลาดเงินและตลาดทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 4 ของปี ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่าย วันที่ 24 มิถุนายนนี้ หลังจากครั้งล่าสุดเมื่อ 20 พฤษภาคม กนง.มีมติ 4 ต่อ3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75 % เป็น 0.50% ต่อปี ด้วยเหตุผลแนวโน้มเศรษฐกิจจะหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาด และผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ และเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง 

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคาร ไทยพาณิชย์ (จำกัด)หรือ EIC เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คาดว่า รอบนี้กนง.จะประกาศตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ใหม่ โดยปรับลดลงจากเดิม -5.3% จากผลการประชุมที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยเห็นจากตัวเลขเดือนเมษายนที่ลดลงค่อนข้างรุนแรง แม้เดือนพฤษภาคม ฝั่งสหรัฐและยุโรปสัญญาณเศรษฐกิจจะดีขึ้น ขณะที่ไทยสามารถควบคลุมโควิด-19 และผ่อนคลายมาตรการ ทำให้เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่คาดว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าๆ โดยรอดูผลการควบคุมโควิดอีกระยะ 

ทั้งนี้คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายหลายด้านแล้ว รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปล่วงหน้าที่ระดับ 0.50%ต่อปี นอกจากนี้ยังมีมาตรการดูแลสภาพคล่องหรือลดต้นทุนทางการเงินกับผู้กู้รายย่อย รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้หรือยืดการชำระหนี้

ฟันธง!กนง. คงดอกเบี้ย ตุนกระสุนรับเสี่ยงครึ่งปีหลัง

“กนง.น่าจะเก็บกระสุนดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีอยู่จำกัด เพื่อใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี ถ้าเกิดเหตุการระบาดโควิดระลอกสอง ไม่ว่าในไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไปอีกก็อาจจะนำมาใช้ในช่วงนั้น รอบนี้อาจจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน”

สำหรับโจทย์หลักของกนง.ขณะนี้ คงต้องให้นํ้าหนักเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เป้าหมายของกนง. นอกจากเงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน โดยโจทย์หลักของภาคการเงินเวลานี้ จะต้องประคับประคองให้ต้นทุนทางการเงินลดตํ่าลง เพราะทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจมีรายได้ลดลง รวมถึงดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอในระบบ เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจช่วงนี้ และเมื่อสัญญาณความเชื่อมั่นดีขึ้น กนง.จึงเน้นบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ 

ส่วนแนวโน้มปีนี้ กนง.ให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งน่าจะติดลบจากราคานํ้ามัน แต่ต้องจับตาสินค้าประเภทอื่น (นอกจากอาหารสดและราคานํ้ามัน)ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มแผ่วลงตามกำลังซื้อที่ลดลงทำให้ราคาชะลอลง ในแง่ผู้ประกอบการเองชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าหรืออาจจะต้องลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบ เพื่อไม่ให้นำไปสู่ภาวะเงินฝืด 

ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินเวลานี้ ส่วนใหญ่ทุกคนระมัดระวัง และไม่มีใครกล้าลงทุน เห็นได้จากเน้นเก็บเงิน แต่ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน อาจมาจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลง การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงนี้ แต่จะช่วยประคองลูกหนี้ให้มีความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหามากต่อระบบการเงิน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าธปท.กับสถาบันการเงินพยายามช่วยเหลือลูกหนี้ให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนไปได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหา วิทยาลัย หอการค้าไทยกล่าวว่า เชื่อว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะไม่ตํ่าไปมากกว่านี้ เพราะ 0.5% ถือว่าอยู่ในระดับตํ่ามากแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจในขณะนี้ แม้จะติดลบ แต่ก็เกิดจากวิกฤติโควิด ไม่ได้เกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และขณะนี้สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้บ้างแล้ว ดังนั้นจึงยังไม่น่าจะเห็นกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า กนง.น่าจะคงอัตราอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากระดับสภาพคล่องในระบบค่อนข้างสูง การส่งผ่านอยู่ในระดับตํ่า เพราะธนาคารพาณิชย์สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ โดยไม่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย ฉะนั้นการเก็บกระสุนเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย ไว้รองรับหากสถาน การณ์การระบาดของโควิด ที่อาจเกิดขึ้นเป็นรอบสอง และหากลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้อีก ก็จะเหลือเพียง 0.25% จะไม่เหลือพื้นที่สำหรับผู้ออมเงิน

“หากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลดลงอีกก็จะกระทบประชาชน ดังนั้น กนง.น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน  และโจทย์ของกนง.นํ้าหนักน่าจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ เพราะในแง่เศรษฐกิจคงจะต้องรอ แต่ควรให้นํ้าหนักคุณภาพสินเชื่อให้อยู่รอดกันได้ และเชื่อว่านโยบายการเงินจะไม่ผ่อนคลายมากไปกว่านี้” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563