เชฟรอน-ปตท.สผ.  ร่วมส่งต่อเอราวัณ  ยันผลิตก๊าซไม่สะดุด

22 มิ.ย. 2563 | 05:17 น.

นับจากมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เพื่อให้สิทธิกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เข้าดำเนินการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต่อจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่จะหมดอายุสัมปทานช่วงปี 2565

ในสัญญากำหนดข้อผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำในช่วง 10 ปีแรกไว้ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แยกเป็น แหล่งเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ บงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

ถึงวันนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะผู้ให้สัญญาฯ กลุ่ม ปตท.สผ. ผู้ดำเนินงานรายใหม่ และเชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทาน รายเดิม ได้มีการดำเนินงานไปถึงไหน เพื่อไม่ให้การผลิตก๊าซฯช่วงรอยต่อเกิดการสะดุด หลังสิ้นสุดสัมปทานของเชฟรอนฯแล้ว 

 

ปตท.สผ.เข้าพื้นที่

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า การดำเนินงานช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณ ก่อนที่ ปตท.สผ. จะเข้าไปดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2565 เป็นต้นไปนั้น ได้มีการประสานงานกับผู้รับสัมปทานในปัจจุบัน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความร่วมมือของทุกฝ่ายมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการผลิตก๊าซให้ต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต 

ปัจจุบัน ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการทำข้อตกลงการเข้าพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าไป ติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิต ได้ตามแผนการลงทุนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้อนุมัติ และ ปตท.สผ. ได้เริ่มลงทุนไปแล้ว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ดำเนินการในปัจจุบันภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ขณะที่การจ้างพนักงานต่อผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบันนั้น ได้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การโอนถ่ายพนักงานในอนาคต

 

เชฟรอนพร้อมร่วมมือ

สอดคล้องกับนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ยืนยันว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงาน แม้จะมีรายละเอียดซับซ้อน แต่ที่ผ่านมา เชฟรอนฯได้ทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ. อย่างเต็มที่เพื่อเตรียมการส่งมอบแหล่งเอราวัณ โดยมีการลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ ฉบับที่ 1 เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อเปิดทางให้ปตท.สผ. เข้าไปเตรียมการใช้พื้นที่ ปัจจุบันกิจกรรมภายใต้ข้อตกลงนี้ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปมากกว่า 90%และในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 ได้  เพื่อให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต การขุดเจาะหลุม และติดตั้งเรือกักเก็บปิโตรเลียม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น การส่งมอบแท่นผลิตและสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐ รวมถึงการหารือกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกระบวนการรับสมัครรและคัดเลือกพนักงาน เป็นต้น


เชฟรอน-ปตท.สผ.   ร่วมส่งต่อเอราวัณ   ยันผลิตก๊าซไม่สะดุด

เร่งรื้อถอนแท่น

ขณะที่ การรื้อถอนแท่นและสิ่งติดตั้งในทะเล ที่รัฐไม่ได้เลือกที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ได้มีการวางแผนงานและดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่นโครงการนำร่องการนำส่วนบนของ ขาแท่นปิโตรเลียม จำนวน 4 แท่น ไปจัดการบนฝั่ง และอยู่ระหว่างร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์บริหารวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการนำ 7 ขาแท่นปิโตรเลียมไปจัดวางเป็น ปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทย  โดยนำไปจัดวางที่บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีภายในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้ ซึ่งเป็นแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่มีการดำเนินงานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก 

เชฟรอน มองว่ากิจกรรมการรื้อถอนนี้ จะช่วยให้เกิดการลงทุน และการจ้างงาน เกิดเงินหมุนเวียนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการรื้อถอนตามมาตรฐานความปลอดภัย และแนวทางปฏิบัติที่ดีของอุตสาหกรรม เช่น การแยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอนของผู้ประกอบการไทยในจังหวัดชลบุรี  

ดังนั้น การรื้อถอนแท่น จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อของการส่งมอบแหล่งเอราวัณ ตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทวงพลังงาน ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก ที่เชฟรอนจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายเพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน

 

ยันไม่ทิ้งลงทุนในไทย

เชฟรอน ยืนยันด้วยว่าแม้เมื่อแหล่งเอราวัณจะหมดอายุสัมปทานแล้วก็ตาม แต่เชฟรอนจะเป็นพันธมิตรด้านพลังงานที่ดีต่อไทยในระยะยาว  เพราะนอกจากจะมีแหล่งสัมปทานอื่นๆ เช่นแหล่งไพลินที่ยังมีอายุสัมปทานเหลืออยู่ และยังมองหาโอกาสการลงทุน และความเป็นไปได้ในการสนับสนุนนโยบายพลังงานของรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใน พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา และการจัดหาและจำหน่าย LNG รวมทั้งการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับ LNG เป็นต้น 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563