8 พันอปท.ป่วน ดิ้นใช้ข้อมูลโรงเรือน เก็บภาษีที่ดิน

20 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

“ภาษีที่ดิน” ฉุดอปท. 7,852 แห่งวุ่น สำรวจ-ประเมินทรัพย์สินไม่ทัน ขอใช้ฐานข้อมูลภาษีเก่าเทียบราคาประเมินที่ดิน เทศบาลบางรักพัฒนา ยันต้องใช้เวลาหลายปี บางโฉลง อบต.เล็กกลับเรียกเก็บภาษีสนามบินสุวรรณภูมิ /หนองหอยเชียงใหม่ จ้างนักศึกษามช.สำรวจ อดีตนายกอบต.ยํ้ากว่า 4,000 อบต.เล็กอาจตาย

นอกจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  7,852แห่ง ทั่วประเทศรวมกรุงเทพมหานครมีข้อจำกัด ลงพื้นที่ สำรวจอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อจัดทำบัญชีราคาประเมินทรัพย์สินเพื่อเรียกเก็บภาษีแล้ว กระทรวงการคลังยังปรับเปลี่ยนอัตราภาษีใหม่ บางประเภท เพื่อลดผลกระทบจากการร้องเรียน ส่งผลให้ ท้องถิ่นต้อง กลับไปแก้ไขฐานข้อมูลทรัพย์สินใหม่  โดยเฉพาะบ้าน-คอนโดมิเนียมเช่า, หอพัก, อพาร์ตเมนต์ จากประเภท พาณิชย์  เสียภาษี 0.3% กลายเป็นที่อยู่อาศัยหลังรอง เสียภาษี 0.02% ประกอบกับปริมาณ อาคาร มีจำนวนมาก เทียบกับ เจ้าพนักงานมีจำกัด อีกทั้งวันยื่นเสียภาษีกระชั้นเข้ามา ส่งผลให้แต่ละท้องที่ต่างหาทางออก เพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าออกไป

“ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่สุ่มสำรวจอำเภอบางบัวทองจังหวัดนนทบุรีพบว่ามีสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานรัฐเชื่อมเข้าพื้นที่ทั้งถนนรถไฟฟ้าผลักดันเมืองขยายตัวเต็มไปด้วยบ้านจัดสรร ราคาบ้านแต่ละหลัง หายากยิ่งหากจะซื้อในราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทเช่นเดียวกับราคาที่ดิน ขยับสูง กระทั่งองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาต้องยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลบางรักพัฒนา อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเจ้าพนักงานถึงความพร้อมการจัดเก็บภาษีที่ดินที่กำลังมาถึง วันที่ 1 สิงหาคม กลับได้รับคำตอบว่า เทศบาลฯ ต้องใช้ฐานข้อมูลเก่าภาษีโรงเรือน ที่ได้ยกเลิก เมื่อปี 2562 มาเรียกเก็บภาษีแทนโดยนำราคาประเมินที่ดินและคู่มือประเมินสิ่งปลูกสร้างกรมธนารักษ์มาเทียบ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เนื่องจากไม่สามารถสำรวจอย่างละเอียดได้ทัน เมื่อเทียบกับปริมาณบ้านเรือนอยู่อาศัยมีมากกว่า 4 หมื่นหลังคาเรือน ยังไม่รวมพื้นที่เกษตรกรรม โรงงาน พื้นที่พาณิชยกรรมต่างๆ   

นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเจ้าของที่ดินติดต่อเสียภาษีหากมีความจำเป็นต้องแบ่งแยกพัฒนาโอนกรรมสิทธิ์  ปลูกสร้างอาคารให้ชะลอไว้ก่อน  หากพ้นเดือนสิงหาคมไปแล้วจึงค่อยดำเนินการ  สำหรับการสำรวจ เทศบาลยังคงดำเนินการต่อเนื่องแต่หากให้ครบทั้งหมดต้องใช้เวลาหลายปี และเชื่อว่าทุกท้องถิ่นที่มีกำลังคนน้อย จะเลือกใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิมใช้อ้างอิงไปก่อนจนกว่าจะสำรวจและประเมินใหม่แล้วเสร็จ

ขณะ อบต.บางโฉลงอำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ แม้เป็นท้องถิ่นขนาดเล็กแต่กลับมีทรัพย์สินขนาดใหญ่ต้องคำนวณกัน ไม่ว่าสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ยกเว้นเฉพาะพื้นที่ ที่ดินยกเว้นพื้นที่ที่กันไว้เป็นโซนปลอดภัยตามหลักการบิน  รอบรันเวย์ ลานจอด แท็กซี่เวย์ เซ็นทรัลวิลเลจ  คิงเพาเวอร์  รวมทั้งโรงงานอีกนับ 100 โรง 

ส่วนใหญ่นำฐานข้อมูลแบบภาษีโรงเรือนเก่า ที่มีอยู่เดิมกับวิธีให้เจ้าของที่ดิน นำสำเนาทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน ฯลฯ มาแสดง วัดความกว้างยาว อาคาร และใช้ราคาประเมินรัฐมาคำนวณประกอบเพราะจะให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจคงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน 

สอดคล้องกับ เทศบาลตำบลหนองหอยจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า  ได้ว่าจ้าง นักศึกษามหาวิทยาลัย เชียงใหม่ จำนวน สิ่งปลูกสร้างซึ่งในพื้นที่ ตำบลหนองหอย มีที่ดินทั้งหมด 6,400 แปลง  เฉลี่ยเท่าๆกับสิงปลูกสร้าง แต่ทั้งนี้ มองว่า เดือนหน้าได้ขยายเวลา จัดทำ  บัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อออกใบเรียกเก็บภาษีไปยังบ้านเรือนประชาชน บางพื้นที่ต้องใช้ ฐานภาษีเก่า ปี 2562 เพราะราคาประเมิน กรมธนารักษ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง 

ขณะรายได้ยอมรับว่าลดลง ค่อนข้างมาก จากการเว้นมูลค่าบ้านอยู่อาศัยและที่ดินเกษตรไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่เสียภาษี ประกอบกับกระทรวงการคลัง ปรับประเภท บ้านเช่า  หอพัก อพาร์ตเมนต์ เป็นที่อยู่อาศัยเดิมที่กำหนดเป็นพาณิชย์   เจ้าของบ้านบางราย ปล่อยบ้านทิ้งร้างฝุ่นจับหนา  แต่ ยังแจ้งเท็จว่าอยู่อาศัย อีกทั้งรัฐบาลยังลดภาษีช่วยโควิด 90% ทำให้ เทศบาลต้องปรับภาษีใหม่ เพื่อให้ทันเรียกเก็บภาษี ซึ่งชุลมุนค่อนข้างมาก 

สำหรับรายได้ในปีงบประมาณ ปี 2563 จากการเก็บรายได้จากภาษีที่ดิน คาดว่าเหลือ ราว5แสนบาทในปี 2563 (ลดภาษี 90%)  เทียบกับ อัตราเต็ม 100% ประเมินไว้ที่ กว่า 1 ล้านบาท หากเทียบกับภาษีโรงเรือนแล้ว แต่ละปี สามารถจัดเก็บรายได้เฉลี่ย 5.5 ล้านบาทต่อปี 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563