รุมสวด "รัฐบาล" ไม่จริงใจ "เลือกตั้งท้องถิ่น" หลังอ้างนำงบใช้แก้โควิดหมด

14 มิ.ย. 2563 | 11:10 น.

กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความไม่จริงใจที่จะให้มีการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” ไม่อยากให้มีการกระจายอำนาจไปสู่มือประชาชน หลัง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ออกมาระบุในทำนอง "รัฐบาล" ไม่มีงบประมาณไปสนับสนุน “การเลือกตั้งท้องถิ่น” เพราะงบถูกดึงไปใช้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาไวรัส "โควิด-19" เสียเป็นส่วนใหญ่

โดยนายวิษณุ กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ต้องไปถามกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งตามขั้นตอนแล้วต้องมีความพร้อมในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ต้องมีความพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ความพร้อมของประชาชน และความพร้อมในส่วนของงบประมาณ
              “เรื่องของงบประมาณตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้านี้พร้อมแล้ว แต่มีการดึงไปใช้ในเรื่องของโควิด-19 ส่วนจะต้องกันงบใหม่หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่แล้วค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ท้องถิ่นนั้นๆ แต่เราจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายของส่วนกลางของ กกต.”

เมื่อถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก่อนมีการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องมีการกันงบประมาณใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในส่วนกลางนั้นใช้งบกลาง และอย่างน้อยก็มีงบที่เพิ่งมีการปรับเข้ามา ตามร่าง พ.ร.บ.โอนงบ 2563 แต่ท้องถิ่นไม่มีงบกลาง ไม่รู้ว่าจะโยกออกได้หรือไม่

รุมสวด "รัฐบาล" ไม่จริงใจ "เลือกตั้งท้องถิ่น" หลังอ้างนำงบใช้แก้โควิดหมด

“ผมไม่ได้หมายความว่าเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพียงแต่บอกว่าต้องพิจารณาอะไรบ้าง หากกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมแล้วก็ต้องมีการเสนอมาที่รัฐบาล เพื่อแจ้ง กกต. ให้กำหนดวันเลือกตั้ง วันนี้แค่จะมีการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปางเขต 4 ก็มีปัญหาแล้ว เพราะมีการแจ้งมาที่ผมว่าเพียงส่งเจ้าหน้าที่ไปเตรียมการเลือกตั้งก็ต้องถูกกักตัวไว้ 14 วัน ดังนั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน” นายวิษณุ ระบุ

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม โฆษกพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตั้งข้อสังเกตมาแต่ต้นว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการกระจายอำนาจ จึงไม่เห็นถึงความสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่น ฉะนั้นการเลือกตั้งถ้องถิ่นจึงมีความพยายามจะหาข้ออ้างเพื่อเลื่อนออกมาเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดข้ออ้าง จึงอาจจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ข้ออ้างใหม่ คือการระบาดของโควิด-19

นายสุทิน กล่าวว่า ที่รัฐบาลไม่อยากให้มีการเลือกตั้งต้องดูที่ต้นทาง ทั้งนี้มีการพูดคุยกันในกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่ารัฐบาลไม่อยากให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศ ไม่อยากให้อำนาจมาถึงประชาชน จึงเกิดการบอนไซการกระจายอำนาจ ไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น

“ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งท้องถิ่น หากดูทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เคยกระจายอำนาจออกไป ก็ถูกดึงกลับมาหมด เช่น กระทรวงศึกษาธิการ จะเห็นว่ามีการตั้งศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการเขต ศึกษาธิการจังหวัดทับซ้อนกัน ผมรู้มานานแล้วว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกิดขึ้นง่ายๆ และที่คาดกันว่าจะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนก.ค. ผมว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะได้ข้ออ้างโควิด-19”

รุมสวด "รัฐบาล" ไม่จริงใจ "เลือกตั้งท้องถิ่น" หลังอ้างนำงบใช้แก้โควิดหมด

รวมถึงการอ้างเรื่องงบประมาณ มองว่าถ้าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริงๆ งบประมาณไม่ใช่ปัญหา ท้องถิ่นก็จัดเตรียมงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้หากงบประมาณไม่พอ ส่วนกลางจะจัดงบเพิ่มเติมให้ ดังนั้นการที่อ้างว่างบท้องถิ่นนำไปใช้เกี่ยวกับโควิด-19 นั้น ตนมองว่าเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น

ส่วน นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก  Watana Muangsook ระบุว่า เดิมผมเพียงคาดว่ารัฐบาลจะใช้โควิดเป็นแพะรับบาปทางเศรษฐกิจ ไม่ได้คิดไปถึงขนาดว่ารัฐบาลจะใช้โควิดเป็นข้ออ้างในทุกเรื่อง จนกระทั่งได้ยินรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายให้สัมภาษณ์ว่าต้องเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะงบถูกนำไปใช้แก้ปัญหาโควิดหมดแล้ว จึงเข้าใจความหมายที่โบราณพูดว่างาช้างไม่เคยงอกจากปากสุนัข
              ผลสำรวจของทุกสำนักออกมาตรงกันหมดว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเบื่อรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ สาเหตุคือรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา หากแต่เข้ามาเพื่อบริหารอำนาจและสืบทอดอำนาจโดยไม่ได้สนใจความเดือดร้อนของประชาชน

เช่นเดียวกับท่าทีของพรรรคก้าวไกล โดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรค ที่ออกมาตำหนินายวิษณุว่า
คำตอบของนายวิษณุ บ่งบอกถึงทัศนคติราชการรวมศูนย์ ที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติโควิด-19 น่าจะได้เห็นปัญหาหลายอย่างแล้วว่า การบริหารจัดการของรัฐบาลไม่ทั่วถึง ไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย รัฐบาลเป็นรัฐบาลของกทม.เท่านั้น

“หากเรามีการเลือกตั้งท้องถิ่น มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ดูแลจัดการเชื่อมโยงกับรัฐเพื่อแก้ปัญหา ประชาชนจะไม่ถูกทอดทิ้งและเดือดร้อนถึงเพียงนี้ อีกทั้งเหตุการณ์ไวรัสระบาดควรเป็นฉากสะท้อนให้รัฐเร่งจัดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นโดยเร็วด้วยซ้ำ”

โฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า นายวิษณุส่งสัญญานเช่นนี้ มองว่าไม่ต่างกับการเดินไปตบหน้าประชาชน หนำซ้ำยังโยนภาระให้ประชาชนว่า การที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้โดยเร็ว เพราะนำเงินมาเยียวยาประชาชนหมดแล้ว

เชื่อว่าทุกประเทศประสบปัญหาวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะโรคระบาด ภัยธรรมชาติ พิษเศรษฐกิจกันอยู่แล้ว แต่ฝ่ายบริหารที่ดีควรมีการจัดการและวางแผนการทำงานพร้อมรับมือได้ทุกรูปแบบ เรื่องนี้ถือเป็นข่าววันหยุดที่อ่านแล้วหดหู่ใจยิ่งหนัก เพราะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เคยสำนึก ไม่เคยเข้าใจความเดือดร้อนและความจำเป็นของประชาชน

ทางด้าน นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ความจริงแล้ว ทุกท้องถิ่นได้เตรียมงบประมาณไว้หมดแล้ว มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประมาณ 100 กว่าแห่งที่ขาดแคลนงบประมาณ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมด 7,852 แห่ง ตามกฎหมายแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องสนับสนุน ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นใช้งบประมาณไม่เยอะ เพราะเป็นอบต. ขนาดเล็ก

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น กกต. มอบให้ อปท. เป็นผู้ดำเนินการ โดยปลัด อปท. เป็น ผอ.การเลือกตั้งของ.อปท.นั้นๆ กกต.จะใช้งบประมาณเฉพาะการฝึกอบรมและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ เจ้าหน้าที่ กกต. เท่านั้น ซึ่งเป็นงบประมาณไม่มาก
              “ตอนนี้จึงเหลือเพียงแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นร่วมกับ กกต. จะไฟเขียวเท่านั้นเอง” นายชำนาญ ระบุ