EIC คาดเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 หดลึก 12% กำลังซื้อบริโภค-ท่องเที่ยววูบ

06 มิ.ย. 2563 | 01:57 น.

EIC ประเมินปีหน้า ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าทั้งตลาดตราสารหนี้-หุ้นเซ็กเตอร์ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

EIC หั่นเป้าจีดีพีไทยปี63 หดตัว 7.3% เหตุส่งออกหัวตัวสูง10.4%-ครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายเหตุรายได้ลด ภาระหนี้เพิ่มและเสี่ยงตกงานทั้งระบบ 10ล้านคน แรงงานอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีสายป่านสั้นราว 6-7ล้านคน พร้อม ประเมินปีหน้าฟันด์โฟลว์ไหลเข้าทั้งตลาดตราสารหนี้-หุ้นเซ็กเตอร์ “อาหาร เครื่องดื่ม บริการทางการแพทย์ การสื่อสาร”กลุ่มได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

 

EIC คาดเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 หดลึก 12%  กำลังซื้อบริโภค-ท่องเที่ยววูบ
 

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ  รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center  Economic Intelligence Center(EIC)  ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน ระบุว่า  EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวมากกว่าที่คาดจาก -5.6% เป็น –7.3% จากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน EIC ได้ปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 เหลือเพียง 9.8 ล้านคน (-75.3%YOY)จากเดิมที่คาดไว้ที่ 13.1 ล้านคน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่หดตัวมากว่าคาด

โดยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น -10.7%  การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวสูงที่ -10.4% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัว1.8%การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.5%และ 4.6%

 

EIC คาดเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 หดลึก 12%  กำลังซื้อบริโภค-ท่องเที่ยววูบ

 

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% นั้น เป็นผลจากภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายเน้นการออมมากขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากรายได้ที่ปรับลดลง ภาระหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงจะตกงาน เพราะแรงงานอยู่ในกลุ่มเปราะบางเกือบ 10ล้านคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้นราว 6-7ล้านคน ตราบใดภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นโอกาสคนตกงาน 3-5 ล้านคน หรือหากรวมผลกระทบจากCOVID-19อาจจะตกงานถึง 10ล้านคน  

“ไตรมาสสองคาดว่าจีดีพีจะติดลบ 12% จากปัจจัยนักท่องเที่ยวและการบริโภคอุปภาคที่หายไป และแนวโน้มไตรมาสสี่จีดีพีก็ยังติดลบ เนื่องจากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาซึ่งมาตรการรัฐควรจะกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับกลุ่มคนชั้นบนและชั้นกลางรวมทั้งกระตุ้นการลงทุนในชุมชน”

ต่อข้อถามแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น  นายยรรยงกล่าวว่า ผลข้างเคียงจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรืออัดฉีดคิวอีในหลายประเทศบวกกับสัญญาณการควบคุม COVID-19ในไทยที่ดีขึ้นเริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่และไทยได้บ้าง  แม้จะมีความผันผวนจากสงครามทางการค้าและการผิดนัดชำระหนี้และสถานการณ์COVIDยังต้องติดตาม

อย่างไรก็ตามปีหน้า ฟันด์โฟลว์  น่าจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้หลังจากมีการไหลออกไปในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มยังมีปัจจัยจากภาครัฐที่จะออกตราสารในระยะข้างหน้า ส่วนตลาดหุ้นคงจะมีเม็ดเงินไหลเข้าเซ็กเตอร์ที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม บริการทางการแพทย์ การสื่อสาร ซึ่งจะได้รับแรงสนับสนุนเสริมจากมาตรการโอนเงินช่วยเหลือและมาตรการพักหนี้ของภาครัฐจะฟื้นตัวได้เร็ว

 

อ่านฉบับเต็มhttps://medias.thansettakij.com/media/pdf/2020/1591374398.pdf