เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย" ขวัญกำลังใจ(3)

24 พ.ค. 2563 | 03:56 น.

 การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา2019 ปลุกให้ทั่วโลกตื่นตัวเพื่อรับมือ ท่ามกลางความมึนงงเพราะเป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ที่ไม่รู้จัก รวมทั้งหมออนามัยชาวดอยประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่ต้องปรับตัวเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่

 

  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เปิดเพจเฟซบุ๊กสื่อสารโควิด19น่าน เพื่อเป็นสื่อกลางรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ จากคนหน้างานในพื้นที่เมืองน่าน บอกกล่าว"เรื่องเล่าดีดีโควิด19น่าน" หลายเรื่องราวสะท้อนภาพชีวิตและการทำงานในห้วงประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่อง รพ.สต.บนดอย หมออนามัยชาวดอย ...

 

เรื่อง: รพ.สต.บนดอย หมออนามัยชาวดอย ตอน 3 “ขวัญกำลังใจ”
➡️คนต้นเรื่อง : ปิ่นปินัทธ์ ชาญมณีเวช
➡️เรียบเรียงโดย : ทีมสื่อสารความเสี่ยง สสจ.น่าน
#เรื่องเล่าดีดีโควิด19 น่าน????
#เรื่องเล่าดีดีโควิด19 อำเภอปัว จังหวัดน่าน
    

ในการทำงานต่อสู้ภัยโควิด 19 สิ่งดีงามที่ได้สัมผัสชัดเจนมาก ๆ คือ ความมุ่งมั่น ความเสียสละ และทุ่มเทของอสม. ผู้นำชุมชน  องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน รวมถึงผู้อาวุโสในตำบล  โดยในเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลกในครั้งนี้ พยาบาลผู้รับผิดชอบงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อของรพ.สต.บนดอย ได้มีโอกาสให้คำแนะนำ ไปช่วยดูแลระบบต่าง ๆ ในการดำเนินงานตามมาตรการโรคโควิด 19 ของระดับตำบล ทั้งในหน่วยงานราชการในพื้นที่ สถานศึกษา และในชุมชน (ประหนึ่งว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ก็ไม่ปาน) 

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย" ขวัญกำลังใจ(3)     

การดำเนินงานต่าง ๆ อย่างเข้มข้นผ่านมาประมาณครึ่งเดือน พอจะมองภาพออกว่าประชาชนในตำบลส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า มีการล้างมือก่อนและหลังรับบริการที่รพ.สต.ตามจุดที่จัดไว้ มีการเว้นระยะห่างขณะมารับบริการ ฯลฯ โดยประชาชนสามารถปฏิบัติตามมาตรการที่วางไว้ได้ดีขึ้นตามลำดับ  
    

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย" ขวัญกำลังใจ(3)

ช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 สามารถประมวลผลการดำเนินงาน เป็นตัวเลขการลงทะเบียน และติดตามผู้เสี่ยงทั้งกักตัวครบ 14 วัน และอยู่ระหว่างการกักตัว ยอดสะสมทั้งสิ้น มีจำนวนกว่า 400 คน  ตลอดระยะเวลาที่ได้ลงมือทำงานอย่างสุดหัวใจ สุดความรู้ความสามารถของทีมงานทุกภาคส่วน จากการสังเกตพบว่า ประชาชนเริ่มมีความตระหนักรู้ มีความเข้าใจ และไว้ใจพวกเราบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น การให้ข้อมูล การลงทะเบียนผู้เสี่ยง การติดตามอาการ/การติดตามเยี่ยมผู้เสี่ยง การรายงานผลการดำเนินงาน คล่องตัวขึ้นอย่างชัดเจน 
    

ยังนึกไม่ออกเลยว่าหากการทำงานในสถานการณ์โรคโควิด 19 ถ้าไม่มีเครือข่าย (โดยเฉพาะอสม./กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) ถ้าไม่มีระบบการปฏิบัติงานที่แต่ละพื้นที่ได้ช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อรองรับ และหนุนเสริมการทำงานของทางราชการ  หากเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 จะเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้เสี่ยง ครอบครัว และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้เสี่ยงจำนวนมาก 
    

ในการนี้ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ หรือ หมออนามัยชาวดอย ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้าถึงโดยตรงทางโทรศัพท์ โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่แรกเริ่มที่มีผู้เสี่ยงรายแรกเข้าพื้นที่ (ตั้งแต่วันที่ 29 เดือนกุมภาพันธ์ 253 เป็นต้นมา) จะมีทั้งผู้เสี่ยง ญาติ และประชาชนโทรศัพท์และไลน์ติดต่อ เพื่อขอรับคำปรึกษา คำแนะนำ เป็นระยะ ๆ เกือบทุกคืน ที่กว่าจะได้พักสายโทรศัพท์เวลาก็ล่วงเลยเวลาทานข้าวเย็นไปนานมากแล้ว  ในขณะที่ประชาชนมีความเครียดสูง  สิ่งใดที่จะช่วยบรรเทาเบาบางให้ประชาชนคลายกังวล ลดภาวะเครียด ในฐานะหมออนามัยชาวดอยก็พึงทำ 
    

ไม่มีสิ่งใดที่จะสุขใจเท่ากับ  ตาแห่งความสุขความซาบซึ้งใจของผู้เสี่ยงที่กล่าวกับหมออนามัยชาวดอยว่า “ขอบคุณหมอมากๆ  ที่ผ่านมาถ้าไม่มีหมอ ก็ไม่รู้จะผ่าน 14 วันอันตรายมาได้อย่างไร” รายแล้วรายเล่าที่ทำให้หมออนามัยชาวดอยต้องส่งต่อกำลังใจ ส่งพลังบวกให้ทีมหมออนามัยชาวดอย และเครือข่ายสุขภาพตำบล ให้เดินหน้าทำงานเฝ้าระวังโรคโควิด 19 อย่างเข้มแข็งต่อไป  
    

โรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มอายุ ในระหว่างการปฏิบัติงาน ทั้งติดตามผู้เสี่ยงด้วยการลงเยี่ยม การให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์ และทางไลน์ หมออนามัยชาวดอยพบว่าประชาชนหวาดหวั่น หวาดกลัว มีความเครียดสูงเกี่ยวกับโรคโควิด 19 แม้ว่าในขณะนี้การปฏิบัติตัวตามแนวทางจะเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่ครบถ้วนตามแนวทางของทางราชการ  หากปล่อยให้ประชาชนเคว้งคว้าง  ขาดกำลังใจ อาจส่งผลให้การปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด 19 ไม่มีประสิทธิภาพได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด กำลังใจจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้ทุกคนเข้มแข็ง และยังคงปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคของทางราชการ  
    

ดังนั้น ในเย็นวันหนึ่งของหมู่บ้านชนเผ่าอิ้วเมี่ยน  หมออนามัยชาวดอยได้ประสานชุมชน เพื่อหารือเกี่ยวกับการสร้างเสริมกำลังใจให้ประชาชนของตนเอง การหารือในครั้งนี้ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากรพ.สต.บนดอย อบต. ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อาจารย์หมอพิธีกรรม และผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ทุกคนมาร่วมกันทำหน้าที่กันอย่างแข็งขัน วันนี้นำไปสู่ขวัญกำลังใจสู่ประชาชนชาวอิ้วเมี่ยน นอกจากหมออนามัยชาวดอยจะได้สื่อสารการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง การเน้นย้ำให้ทีมนำระดับหมู่บ้าน ได้ส่งเสริมประชาชนในหมู่บ้านให้ปฏิบัติตามแนวทางของทางราชการ ทีมนำของหมู่บ้านยังได้วางแผนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยหนุนเสริมมาตรการของทางราชการให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งจะเน้นการดูแลด้านจิตใจ การสร้างขวัญและกำลังใจในรูปแบบของชนเผ่าอิ้วเมี่ยน 
   เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย" ขวัญกำลังใจ(3)  

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย" ขวัญกำลังใจ(3)

โดยในหมู่บ้านชาวอิ้วเมี่ยนจะมีความเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผีบรรพบุรุษ ในทุกเทศกาลจะมีพิธีกราบไว้บูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญมาก และในสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้หากปล่อยให้ข่าวการระบาดของโรค ข่าวผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนต้องพบเจอ มาสร้างความเครียดให้กับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเป็นหมออนามัยชาวดอยนอกจากการส่งเสริมสุขภาพกายให้เข้มแข็งตามหลักวิชาการแล้ว การดูแลด้านจิตใจ จิตวิญญาณ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อประชาชน ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องครบถ้วนได้ แม้หลาย ๆ สังคมมองว่าเป็นเรื่องงมงาย แต่ถ้ายังพอมองเห็นสิ่งที่ดีที่จะได้รับกลับคืนมา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะขัดขวางแต่อย่างใด โดยเป็นการดำเนินการควบคู่กับทุกมาตรการของทางราชการ 
  

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย" ขวัญกำลังใจ(3)  

ในการนี้เป็นบทบาทหลักของทีมนำระดับหมู่บ้าน ทีมนำได้สร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนด้วยบทสวด  และวัตถุที่ชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่า  จะช่วยปกป้องลูกหลานให้แคล้วคลาดจากอันตรายได้  เช่น  ด้ายแดงผูกแขน ผ้าแดงผูกติดกับรถยนต์ ผ้ายันต์ และอื่น ๆ เป็นต้น ในขณะที่ประชาชนเผ่าม้ง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของตำบลก็ได้ดำเนินการสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนชาวม้งในรูปแบบของตนเองด้วยเช่นกัน  แม้จะประเมินผลในทางสถิติไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ทำให้สามารถเข้าใจเข้าถึงในสิ่งที่ชุมชนเป็นได้
     

ในห้วงวิกฤตโรคโควิด 19 ท่ามกลางความหวาดระแวง ความหวาดกลัว ตื่นตระหนก การรับฟังกันและกัน ช่วยกันหาทางออก นำเอาวัฒนธรรมความเชื่อที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้ตามบริบทวัฒนธรรมชุมชน ก็ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ สร้างความรัก ความอบอุ่นให้กับคนในชุมชน ครอบครัว และผู้เสี่ยง ให้สามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เพราะทุกคนล้วนเป็นพี่น้องกัน เป็นคนในชุมชนร่วมกัน

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย" ขวัญกำลังใจ(3)