ส่อง "การบินโลก" 4 เดือนหลัง โควิด

17 พ.ค. 2563 | 07:50 น.

ส่อง "การบินโลก" 4 เดือน หลังโควิด ฉุดธุรกิจสายการบินปักโกรก สิงคโปร์แอร์ไลน์ ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 48 ปี สหรัฐ-ยุโรป การบินหด 90% ล่าสุด อียู เริ่มหนุนเปิดพรมแดนแบบค่อยเป็นค่อยไป

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 และมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางทั่วโลก รวมทั้งการปิดพรมแดน ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศลดลง    ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ทั่วโลกหยุดชะงัก เครื่องบินไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ ต้องจอดพักเครื่องหลายหมื่นลำทั่วโลก

 

ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้สายการบินสูญเสียเงินจำนวนมากไปกับการประกันความเสี่ยงด้านพลังงาน  ทำให้ผลประกอบการภาพรวมการดำเนิน ธุรกิจการบินโลก ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ต่างประสบปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง

  

ส่อง "การบินโลก" 4 เดือนหลัง โควิด

 

ดังจะเห็นได้จากการประกาศผลประกอบการของสายการบินชั้นนำต่างๆในเอเชีย ที่ทุกสายต่างประสบภาวะขาดทุนถ้วนหน้า ไม่พ้นสายการบินที่มีความแข็งแกร่ง อย่าง “สิงคโปร์ แอร์ไลน์” ที่ล่าสุด รายงานผลประบการปีงบการเงินที่สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 63 ซึ่งพบว่า ขาดทุนสุทธิ 212 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 4,773 ล้านบาท) เทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้าที่ได้กำไรสุทธิ 683 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว15,376 ล้านบาท โดยนับว่าการขาดทุนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 48 ปี

 

"สิงคโปร์ แอร์ไลน์ และ ซิลค์แอร์ ซึ่งเป็นสายการบินในเครือ ได้ระงับให้บริการ 96% ของเที่ยวบินทั้งหมดไปจนถึงเดือน มิ.ย.ส่วน “สกู๊ต” ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในเครือ ได้ลดการให้บริการลงถึง 98% ของเที่ยวบินทั้งหมด อีกทั้งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ไม่มีการบินในประเทศ ทำการบินเฉพาะในต่างประเทศสู่130 จุดหมายปลายทางทั่วโลก จึงจัดว่าเป็นสายการบินที่ได้รับผลกระทบมากสุดในเอเชีย

 

ส่อง "การบินโลก" 4 เดือนหลัง โควิด

 

ด้านสายการบินของฮ่องกง คือ "คาเธ่ย์ แปซิฟิก" และ "คาเธ่ย์ ดรากอน"  ก็อ่วมพิษโควิดทำขาดทุนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ รวม  2 สายการบินนี้ ขาดทุนรวมกันถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ "การบินไทย" ก็หนีไม่พ้นการขาดทุนเช่นกัน เพราะหยุดทำการบินมาตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันบริษัทได้ขอเลื่อนการส่งงบการเงินในช่วงไตรมาสแรกนี้ออกไปก็ตาม

 

ส่อง "การบินโลก" 4 เดือนหลัง โควิด

 

ส่วนผลประกอบการสายการบินอื่นๆในเอเชียช่วงเดือนมีนาคม ก็ขาดทุนเหมือนกันหมด สายการบิน "เอเอ็นเอ" ของญี่ปุ่นขาดทุนสุทธิ 58,000 ล้านเยน (547 ล้านดอลลาร์) ถือเป็นรายได้รายไตรมาสที่ย่ำแย่ที่สุดของบริษัท "เจแปน แอร์ไลน์" ขาดทุน 22 พันล้านเยน ขาดทุนรายไตรมาสครั้งแรกนับตั้งแต่บริษัทกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในปี 2555 ส่วนสายการบินจีน ก็ขาดทุนถ้วนหน้าเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ตัวเลขขาดทุนสุทธิโดยรวมของสายการบินหลัก 6 รายในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ สายการบินไชนา อิสเทิร์น แอร์ไลน์, ไชนา เซาท์เทิร์น แอร์ไลน์, แอร์ ไชนา, เอเอ็นเอ โฮลดิงส์ , เจแปน แอร์ไลน์ และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ สูงถึง 3,200 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่ทำกำไรได้ 1,600 ล้านดอลลาร์

 

นอกจากนี้จากผลกระทบโควิด-19ยังส่งผลให้ที่ผ่านมา สายการบินบางแห่งได้ตัดสินใจยื่นฟื้นฟู ภายใต้มาตรา11 ของกฏหมายล้มละลายแล้ว รวมถึง สายการบินเวอร์จิน ออสเตรเลีย โฮลดิงส์ ซึ่งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ถือหุ้นอยู่ 20% และสายการบินเก่าแก่ของภูมิภาคลาตินอเมริกาอย่างเอเวียงกา โฮลดิงส์ 

 

สำหรับสถานการณ์ธุรกิจการบินในยุโรปและสหรัฐ ทางสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า ชี้ว่า ความต้องการในการเดินทางทางอากาศ ก็ปรับตัวลดลงกว่า90%ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19

 

ทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าหากประเทศต่างๆยังคงขยายมาตรการล็อกดาวน์และควบคุมด้านการเดินทาง    ดังนั้นทาง สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) จึงเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆค่อยๆผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางเพื่อให้อุตสาหกรรมการบินได้กลับมาเริ่มให้บริการอีกครั้ง และหวังว่าสายการบินบางแห่งจะหวนกลับมาให้บริการได้อีกครั้งในช่วงฤดูร้อนนี้


ทั้งนี้ล่าสุดดูเหมือนข้อเรียกร้องของไออาต้า จะได้รับการตอบรับในระดับหนึ่ง เมื่อสหภาพยุโรปได้ประกาศแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายผลักดันให้มีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศในยุโรปอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังปิดมานานเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

 

โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ขอให้ยุโรปกลับไปสู่การเคลื่อนที่อย่างเสรี พร้อมทั้งกำหนดเกณฑ์ให้มีการสวมหน้ากากอนามัยบนเครื่องบิน และมีการรักษาระยะห่างทางสังคมบนรถไฟ

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศในยุโรปมีแผนของตัวเองในการเปิดประเทศด้วยกำหนดเวลาที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ โดยหลายประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งขณะนี้มี 3 ประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลบอลติก คือลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโทเนีย ตัดสินใจเปิดพรมแดนระหว่างกันแล้วเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว