สูตร "คมนาคม"ดัน การบินไทย สู่ ศาลล้มละลาย

18 พ.ค. 2563 | 00:45 น.

คมนาคม ทุบโต๊ะ ทางออกวิกฤติการบินไทย 2 เรื่องใหญ่ เสนอนายกฯ เปลี่ยนมติคนร. ลดสัดส่วนคลังถือหุ้น - เปลี่ยน   ค้ำประกันเงินกู้เป็น ยื่นศาลล้มละลายกลางเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

มติแก้ไขวิกฤติการบินไทย หรือบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ของกระทรวงคมนาคม ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มี2 เรื่องใหญ่เสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้แก่ 1. แก้มติกระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยต่ำกว่า 50%  เพื่อให้สายการบินแห่งนี้ พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อเตรียมเดินสู่ กระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ล้มละลาย 2.   เปลี่ยนมติจากการค้ำประกันเงินกู้ ระยะสั้น 5 หมื่นล้านบาท เป็นการยื่นศาลล้มละลายเข้าสู่กระบวน การล้มละลาย

ขณะ การปรับแก้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย  สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข. ) และการบินไทย  หาทางร่วมกัน ตัดปัจจัยสี่ยง23 เรื่องออกไป อาทิ การคัดค้านการฟื้นฟู,การจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ   และฟันธงว่า การกู้เงินจากกระทรวงการคลัง วงเงิน 50,000 ล้านบาท อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ นายชยธรรม์  พรหมศร  ผู้อำนวยสนข.ย้ำว่า แผนฟื้นฟูการบินไทย ไม่มีความชัดเจนมีปัจจัยเสี่ยงหลายประเด็น  เช่น แผนการสร้างรายได้ในอนาคต  และหลังจากที่สนข.ศึกษามองว่าต้องมี “Action Plan” ที่ชัดเจน เพื่อให้การบินไทยอยู่รอด

สูตร "คมนาคม"ดัน การบินไทย สู่ ศาลล้มละลาย

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาแผนได้มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการศาล โดยอาจยื่นเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง เพื่อให้การบินไทยเริ่มต้นฟื้นฟูธุรกิจ โดยปราศจากภาระใช้หนี้สินที่เป็นปัญหาผูกมัดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน รวมทั้งได้พิจารณาถึงขั้นตอนของการบังคับคดี ว่าจะมีเงื่อนไขหรือรูปแบบดำเนินการอย่างไร  โดยวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขีดเส้นตายว่าต้องเห็นแผนที่ปรับแก้โดยปราศจากความเสี่ยงทั้ง 23 เรื่อง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมระบุความคืบหน้า การประชุมแผนฟื้นฟูฯว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางที่ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

รวมถึงผลการปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯระหว่างสนข.กับการบินไทย ขณะการค้ำประกันเงินกู้  ยังไม่มีการตัดทิ้ง แต่ในที่สุดแล้ว อนาคตการบินไทยจะไปต่ออย่างไร ขึ้นอยู่กับครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้ขาด

สะท้อนว่า การบินไทย น่าจะมีทางเลือกไม่มาก หลัง เกิดวิกฤติทางการเงินสะสมมาอย่างยาวนาน แต่มาทรุดหนักถึงขั้นจ่อล้มละลาย เร็วขึ้นมีสาเหตุมาจากการมาของไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้ปีนี้คาดการณ์ว่าการบินไทยจะมีหนี้สินเพิ่ม อีกไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท  เพราะ มีสถานะหยุดบิน สมทบกับ  ภาระหนี้ปีที่ผ่านมา 245,447 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท  (ข้อมูลณ วันที่  31 ธันนวาคม 2562 )  ขณะรายจ่ายยังคงมีสูงต่อเนื่อง   ทำให้ภาพรวมปีนี้  การบินไทย มีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สินทันที  เนื่องจากปีที่ผ่านมา มูลค่าทรัพย์สิน ปริ่มน้ำสูงกว่าหนี้สินเพียง 1 หมื่นล้านบาท และนั่นหมายถึง หากการบินไทยไม่สามารถไปต่อได้ รัฐไม่อุ้มโดยค้ำประกันเงินกู้ให้  ทางออก คือการเดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ - ยื่นล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง ตามกฎหมาย ล้มละลาย พ.ศ.2483  แฮร์คัตหนี้เพื่อให้ สายการบินเดินต่อได้ ต่อเรื่องนี้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนว่า  การบินไทยมีหนี้สินอยู่มาก      และเมื่อ เจอ “โควิด-19” มา กระทบจึงเป็นเหตุให้ ไม่มีรายได้ขณะค่าใช้จ่ายยังมีต่อเนื่องโดยเฉพาะ เงินเดือนบุคลากร กว่า 2 หมื่นคน ,ภาระหนี้ที่ต้องชำระ คาดการณ์ว่าจะมีหนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาทเข้ามาสมทบภาระหนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อน อย่างไรก็ตามคาดว่าการบินไทยจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีข้อดีต่อการบินไทยมากกว่า

ได้แก่ 1. ดำเนินกิจการต่อไปได้ 2. พักชำระหนี้ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้การบินไทยชำระหนี้

ช่วงฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยจึงมีเวลาที่จะฟื้นฟูกิจการได้ เช่น ลดฝูงบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง ปรับเปลี่ยนวิธีจำหน่ายตั๋ว ลดจำนวนพนักงาน ลดเงินเดือนและสวัสดิการ  เป็นต้น 3. เจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ลง ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุนได้

แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็มีข้อเสียต่อการบินไทย และภาพรวมของประเทศ ดังนี้

1. ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนาน2. สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ซื้อหุ้นกู้จากการบินไทยอาจขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนจากการบินไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง3. อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดตราสารหนี้ (หมายถึงพันธบัตรที่หน่วยงานของรัฐขาย หรือหุ้นกู้ที่บริษัทเอกชนขาย)

ถ้าการฟื้นฟูกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ ศาลฯ อาจมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ของการบินไทยอาจร้องขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้การบินไทยล้มละลายก็ได้ โดยศาลฯ จะตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มา จัดการชำระบัญชี รวบรวมทรัพย์สินทั้งหมด แล้วนำมาเฉลี่ยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนน้อยกว่าจำนวนหนี้จริงเป็นอย่างมาก แต่วิธีนี้     ก็ถือเป็น วิธีการสุดท้ายที่กฎหมาย จะสามารถบังคับเอากับการบินไทยได้

คงต้องจับตาแผนผ่าทางตัน การบินไทย ในครั้งนี้ว่าในที่สุดแล้วจะออกมาทางไหน  คาดว่า เร็วๆ นี้ห้ามกะพริบตา

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สูตร "คมนาคม"ดัน การบินไทย สู่ ศาลล้มละลาย