‘สมคิด’สั่งกั๊กเงินกู้ 2 แสนล้าน สู้แรงกระแทกก๊อก2 รับเศรษฐกิจติดลบหนัก

08 พ.ค. 2563 | 01:10 น.

รัฐเร่งอัดฉีดงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบ หลังสัญญาณเศรษฐกิจไตรมาส 2 ทรุดหนัก หวั่นติดลบกว่า 10% สั่งอัดงบรายไตรมาสเพิ่ม 3-4 แสนล้านบาท “สมคิด” หวั่นกระสุนหมด สั่งกั๊กเงินกู้ไว้ 2 แสนล้าน รองรับแรงกระแทกระลอก2    

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะงัก จากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักจนอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบสูงกว่าที่คาดไว้

หนึ่งในทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลประเมินว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในไตรมาส 2 ปีนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การส่งออก การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน จะติดลบมากกว่า 10% การจ้างงานจะลดลงจาก 37.3 ล้านคนในไตรมาสแรก ลงมาเหลือ 36.8 ล้านคนในไตรมาส 2 หรือลดลงราว 5 แสนคน

ดังนั้นรัฐบาลได้วางแนวทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักมากเกินไปด้วยการเร่งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ด้วยการอัดฉีดงบประมาณ และเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ให้เร็วที่สุด โดยตั้งเป้าในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ต้องมีการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นเฉลี่ยให้ได้ไตรมาสละ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรวม 3 ไตรมาสใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3-4 แสนล้านบาท

“ผลระทบจากโควิดจะทำให้เศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยไตรมาส 2 ปีนี้จะติดลบมากสุดกว่า 10% จากนั้นอัตราติดลบจะทยอยลดลง และกลับมาเป็นบวกได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2564 จึงจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดงบประมาณและเงินกู้ลงไประบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด เพราะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังทำงานอยู่”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสภาพัฒน์ฯกันวงเงินกู้ไว้2 แสนล้านบาทในส่วนของวงเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อรองรับหากเกิดการแพร่ระบาดโควิดรอบ2 โดยจะสั่งการในวันที่ 7 พ.ค. นี้

สอดคล้องกับพล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมที่แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 5 พฤษภาคม ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะมีผลกระทบไม่ใช่แค่ 3 เดือน อาจถึง 6 เดือน 9 เดือน จึงต้องเตรียมมาตรการไว้รองรับโอกาสต่อไป

 

ถกฟื้นศก.7พ.ค.

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า วันที่ 7 พฤษภาคม นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมากระทรวงการคลัง เพื่อประชุมเตรียมความพร้อมในการจัดทำมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะหารือถึงแนวทางการใช้งบประมาณ 400,000 ล้านตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทโดยเบื้องต้นจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสภาพสังคมและเศรษฐกิจแนวใหม่(New Normal) ที่ในอนาคตประชาชน จะย้ายถิ่นฐานจากสังคมเมืองกลับสู่สังคมชนบทมากขึ้น

ทั้งนี้แนวปฏิบัติจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรกจะเน้นการดูแลให้ความรู้ประชาชนในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ระยะ 2 จะเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนหารายได้จากการทำการเกษตร ด้วยการพัฒนาสินค้าชุมชน โดยจะให้วิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จไปเป็นพี่เลี้ยงและ ระยะ 3 จะเน้นสร้างความยั่งยืนกับเกษตรกรที่พัฒนาตัวแล้ว เพื่อให้สามารถเติบโตและเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน  

สำหรับวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น ต้องหารือแบบบูรณาการกับหลายหน่วยงานร่วมกัน ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อน ซึ่งเบื้องต้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะมีวงเงินสินเชื่อไว้รองรับไม่ตํ่ากว่า 50,000-100,000 ล้านบาท 

คาดQ2ติดลบ8.3%

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ทรุดตัวตามที่คาดไว้ แต่จะทรุดหนักที่สุดในไตรมาส 2 เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนเมษายน ทั้งรายรับจากต่างประเทศ (การท่องเที่ยวและการส่งออก) และกิจกรรมภายในประเทศ ส่วนแนวโน้มปีนี้ทั้งปี จีดีพีจะติดลบ 5%ภาคส่งออกติดลบ 10% การลงทุนภาคเอกชนติดลบ 5.5% การบริโภคติดลบ 1.1% โดยมีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 2.3% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2% 

“จีดีพีไตรมาส 2 จะติดลบถึง 8.3% เป็นการติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่คาดว่าจะติดลบ 2.1% ถัดไปไตรมาส 3 และ 4 ยังเห็นจีดีพีติดลบ -5.7 และ -4.1% ตามลำดับ ซึ่งจีดีพีที่ติดลบทุกไตรมาสในปีนี้ เพราะกิจกรรมในอนาคตยังไม่กลับมาเต็ม 100% และยากที่จีดีพีจะเติบโตเช่นเดิม ภายใต้เงื่อนไขที่โควิด-19 ยังคงอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี”


‘สมคิด’สั่งกั๊กเงินกู้ 2 แสนล้าน สู้แรงกระแทกก๊อก2 รับเศรษฐกิจติดลบหนัก

 

จี้เร่งสร้างเชื่อมั่น

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำเวลานี้คือ การสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและประชาชนในประเทศเป็นสำคัญ เพราะหากสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ผลที่จะตามมาคือ การลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ โดยระยะสั้นประเทศไทยอย่าไปพึ่งต่างชาติเหมือนภาวะปกติ เฉพาะอย่างที่ทราบกันว่า ขณะนี้ทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาคือ ยุโรปที่รับผลกระทบจากโควิดไปเยอะแล้วว่า จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นหรือไม่ หากยุโรปฟื้นตัวได้เร็ว จะเห็นดอลลาร์อ่อนค่าและน่าจะเห็นสัญญาณเงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ มาเข้าเอเชียและไทยอีกครั้งในปลายเดือนมิถุนายน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเวลานี้ เร่งสร้างเชื่อมั่น ซึ่งเป็นโจทย์หลักที่จะช่วยปลดล็อกเศรษฐกิจ 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่าโควิด-19 ทำให้แนวโน้มตลอดทั้งปีนี้ ไทยน่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว1.2 ล้านล้านบาท ติดลบ60% โดยมีต่างชาติเที่ยวไทย 14-16 ล้านคน สร้างรายได้8 แสนล้านบาทและไทยเที่ยวไทยอยู่ที่ 80-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท

ไตรมาสแรก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมที่ 6.6 ล้านคน ติดลบ 38.01% สร้างรายได้ 3.3 แสน ล้านบาท ติดลบ 40.39% เพราะเริ่มติดลบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ส่วนกระทบหนักมากในไตรมาส 2 จากนโยบายห้ามการบินจากต่างประเทศเข้าไทย

หน้า 1  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563