‘ศรีนานาพรฯ’ พลิกเกม  เจาะออนไลน์-โฮมช็อปปิ้ง

06 พ.ค. 2563 | 03:06 น.

ศรีนานาพรฯ เปิดแผนรับสู้โควิด-19 ทบทวน เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พร้อมโยกเม็ดเงินไตรมาสแรกเดินหน้ารุกออนไลน์ ผนึก Happy Shopping เจาะโฮมช็อปปิ้งรับเทรนด์นักช็อป

นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยว อาทิ เจเล่, เบนโตะ, ขนมขาไก่โลตัส, ช๊อคกี้เวเฟอร์ เป็นต้น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่ปกติแน่นอนว่ายอดขายของแต่ละบริษัทย่อมลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาส 1 บริษัทก็ได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย เนื่อง จากเตรียมแผนรองรับล่วงหน้าตั้งแต่การจัดซื้อ จัดจ้าง ลดค่าใช้จ่าย การให้บุคลากรทำงานหลากหลายมากขึ้น ไม่มีการรับพนักงานเพิ่ม

 

“บริษัทสั่งซื้อวัตถุดิบจากจีน และเห็นสัญญาณเมื่อวัตถุดิบบางอย่างจากจีนเริ่มมีการส่งช้า บางโรงงานสั่งสินค้าไม่ได้ จนกระทั่งปิดตัวไป ในช่วงที่มีการระบาดในจีน ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าและเตรียมแผนตั้งรับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ระบาดในไทย”

 

สำหรับแผนการตลาดบริษัทได้ทบทวน เปลี่ยนแปลงและปรับปรุง เพื่อให้บริษัทสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาได้มีการโยกงบการตลาดมายังช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากงบประมาณการตลาดทั้งเครือราว 5% ของยอดขาย ทั้งเรื่องโปรโมชัน ณ จุดขาย, โปรโมชันร่วมกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น ผ่านการผสมผสานการตลาดทั้งทั้ง อะโบฟ เดอะ ไลน์ และบีโลว เดอะ ไลน์ ขณะเดียวกันยังปรับงบการตลาดมายังแบรนด์ที่แข็งแกร่งอย่าง เบนโตะ, เจเล่ เป็นผู้นำตลาดแทน เพราะในสภาวะที่ไม่ปกติการนำงบมาใช้กับแบรนด์ที่แข็งแกร่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า ส่วนแบรดน์อื่นๆ ก็ลดหลั่นกันไป

 

วิโรจน์ วชิรเดชกุล

“ที่ผ่านมาเราดูสถานการณ์เดือนต่อเดือน โดยมีการโยกเงินมา 1 ไตรมาสก่อน เพื่อดูว่าการใช้จ่ายการสื่อสารในออนไลน์กระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากบริโภคสินค้าของเราหรือไม่ ยกตัวอย่างมีการเปิดแคมเปญ “เจเล่ เวิร์ก ฟรอม โฮม” มานำเสนอแบรนด์ในภาวะวิกฤติ ขณะที่เบนโตะ ก็นำมาให้ความรู้กับผู้บริโภคว่าเบนโตะสามารถทำเป็นอย่างอื่นได้มากกว่าการทานสแน็ก มีการนำมาทำแคมเปญออนไลน์ ต่างๆ เพื่อสื่อสารแบรนด์”

 

นอกจากนี้ยังเทแผนการตลาดไปยังช่องทางโฮม ช็อปปิ้ง เพราะคนอยู่บ้าน และกักตัวกันมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันไปดูทีวีเลือกซื้อของจากโฮมช็อปปิ้งมากขึ้น โดยได้จับมือร่วมกับ Happy Shopping ในการจำหน่ายผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อรับเทรนด์ดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิดจะรุนแรงไปจนถึงเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้นคนออกมาใช้จ่ายมากขึ้นแต่เชื่อว่าโควิด-19 ยังอยู่กับคนไทยต่อไป โดยแผน การตลาดในครึ่งปีหลังจะแตกต่างออกไปจากครึ่งปีแรก โดยบริษัทได้มีการเตรียมแคมเปญ แผนการตลาดในครึ่งปีหลังไว้หมดแล้ว

“ถ้าหลังเดือน 6 สถาน การณ์ไม่ดีขึ้นก็จะปรับแผนอีกแบบตามพฤติกรรมของผู้บริโภค สิ่งที่ท้าทายนี้คือทำอย่างไรให้โตมากกว่าปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้การทำให้เป็นไปตามเป้าถือเป็นเรื่องยาก ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ถือว่าหนักสุดในรอบกว่า 30 ปีที่มีการก่อตั้งบริษัทมา”

 

ขณะที่ในส่วนของตลาดต่างประเทศบริษัทมีโรงงานที่กัมพูชา และกำลังดำเนินการก่อสร้างที่เวียดนาม และเมียนมา คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดทำการผลิตได้ในปี 2564 แต่เนื่องจากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ทำให้ระบบขนส่ง การเดินทาง ไม่สามารถทำได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลื่อนแผนงานออกไปก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นก็พร้อมเดินหน้าต่อทันที อย่างไรก็ดีช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการส่งออกราว 20%

 

นอกจากนี้บริษัทยังได้เลื่อนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจากเดิมที่มีแผนจะจดทะเบียนในปีนี้ โดยมีทำการทบทวนแผนธุรกิจใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิมก่อนในภาวะวิกฤติ จึงต้องชะลอแผนการเข้าตลาดฯ ออกไปก่อนเป็นปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3-6 พฤษภาคม 2563