จีนออกหยวนดิจิตอลแต่ไม่ได้แปลว่าจะส่งเสริม crypto currency

29 เม.ย. 2563 | 06:00 น.


คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

 

อาจมีการมองว่าการประกาศตัวเงินหยวนดิจิตอลเป็นสัญญาณจากจีนที่เปลี่ยนท่าทีมาให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้ crypto currency ในทางกลับกัน ผู้เขียนเห็นว่าเงินหยวนดิจิตอลมีคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ต่างจาก crypto currency อย่างสิ้นเชิง โดยเงินหยวนดิจิตอลเป็นส่วนหนึ่งของเงินหยวนปกติและช่วยเสริมการใช้เงินหยวนโดยรวม ในขณะที่เงิน crypto currency ทั้งหลายมีวัตถุประสงค์ต้องการทดแทนเงินปกติ

 

บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศจีนต้องการนำเงินหยวนดิจิตอลออกมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางการเงิน ตลอดจนปราบปรามการทุจริต และในระยะยาวอาจเป็นตัวเสริมความเป็นสากลของเงินหยวน ธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับนวัตกรรมอันใหม่นี้

 

แนวคิดตรงกันข้ามกับ crypto currency โดยสิ้นเชิง - ธนาคารกลางจีนหรือ PBOC กำลังจะทดลองใช้เงินหยวนดิจิตอลที่มีชื่อทางการว่า Digital Currency/Electronic Payment (DCEP) โดยมีลักษณะที่แตกต่างจาก crypto currency เช่น bitcoin หรือ stable coin เช่น Libra (ที่บริษัท Facebook เคยคิดที่จะทำ) อยู่ 3 ประการดังนี้

 

1. มีกฎหมายรองรับและไม่ใช่เงินสกุลใหม่ : เงินหยวนดิจิตอลเป็นเงินที่มีกฎหมายและความน่าเชื่อถือของประเทศรองรับ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ หากแต่เป็นเงินหยวนในรูปแบบดิจิตอล (แทนที่จะเป็นกระดาษ) ดังนั้น ไม่ต้องมีการอิงราคากับสกุลเงินหรือสินทรัพย์ใดๆ ไม่ต้องมีการกำหนดราคาเป็นของตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของเงินหยวนที่มีใช้อยู่แล้ว ทีนี้ลองเปรียบเทียบกันดู Bitcoin ถือเป็นอีกสกุลเงินหนึ่งที่มีราคาตลาดขึ้นลงโดยไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับสกุลเงินจริงใดๆ หรือแม้กระทั่ง Libra ก็ยังถือเป็นอีกสกุลเงินหนึ่ง ที่มีการผูกค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไม่ให้มีความผันผวน แต่โดยตัวมันเองไม่ได้มีการรับรองโดยรัฐประเทศ

 

2. มีลักษณะรวมศูนย์ : เจ้าหน้าที่ของ PBOC ระบุในหน้าข่าวว่าเงินหยวนดิจิตอลมีลักษณะการจัดเก็บแบบรวมศูนย์มาที่ธนาคารกลาง คือธนาคารกลางสามารถรู้ข้อมูลการเคลื่อนไหวตลอดจนสถานะของผู้ถือ (ว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัท SME หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น) และฟังดูเหมือนว่าจะไม่อิงกับเทคโนโลยี blockchain โดยที่แนวคิดเรื่องการรวมศูนย์นี้ มีความตรงกันข้ามกับ blockchain ที่เน้นการกระจายการจัดเก็บข้อมูลโดยไม่มีตัวกลาง ตรงนี้ คงเป็นเพราะประเทศจีนมีแนวคิดการบริหารนโยบายการเงินแบบที่ยังต้องควบคุมได้

 

3. มีดอกเบี้ย : ที่น่าสนใจคือธนาคารกลางสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้กับเงินหยวนดิจิตอลได้โดยตรง คุณสมบัติข้อนี้เป็นจุดแตกต่างจากเงิน crypto currency โดยทั่วไป แต่ในขั้นทดลองนี้ยังไม่มีการกำหนดดอกเบี้ย

 

จึงเห็นได้ว่า การดำเนินการในครั้งนี้ ประเทศจีนไม่เพียงไม่ส่งเสริม แต่โดยนัยยังเป็นการสกัดกั้น crypto currency เสียด้วยซ้ำ

จีนจะใช้ประโยชน์อะไร - ธนาคารกลางจีนได้ศึกษาแนวทางการออกเงินหยวนดิจิตอลมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว การนำเงินหยวนดิจิตอลออกมาใช้ในช่วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพื่อการป้องกันการติดโรคระบาดผ่านธนบัตร ถึงแม้ประเทศจีนเป็นสังคมไร้เงินสดเกือบทั้งหมด แต่เบื้องหลังของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่มีอยู่ยังมีส่วนที่เป็นธนบัตรกระดาษอยู่ อาทิ การจัดเก็บที่ธนาคารพาณิชย์ ส่วนหยวนดิจิตอลจะไม่มีขั้นตอนของธนบัตรกระดาษแต่อย่างใด

 

ในระยะต่อไปเมื่อมีการใช้เงินหยวนดิจิตอลในวงกว้าง ธนาคาร PBOC น่าจะสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินได้แบบคล่องตัวและตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติด้านการรวมศูนย์ที่ทำให้ติดตามสถานะของผู้ถือเงินได้ กล่าวคือธนาคารกลางอาจกำหนดหรือปรับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่างกันสำหรับกลุ่มผู้ถือเงินแต่ละกลุ่มโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกลไกของธนาคารพาณิชย์

 

ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีการดำเนินนโยบายการเงินของจีน อาจจะงงกับประเด็นนี้ ผู้เขียนจึงขอขยายความว่า นอกจากเครื่องมือนโยบายที่อาศัยกลไกราคาดอกเบี้ยและกลไกตลาดต่างๆ แล้ว ธนาคาร PBOC มีระบบการชี้นำโควตาการปล่อยเงินกู้สำหรับแต่ละธนาคารพาณิชย์โดยตรงอีกด้วย เพื่อให้สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับที่ต้องการโดยตรง

 

จีนออกหยวนดิจิตอลแต่ไม่ได้แปลว่าจะส่งเสริม crypto currency

 

ประโยชน์อื่นๆ ของเงินดิจิตอล ได้แก่ ต้นทุนการผลิตเงินที่ต่ำกว่า การป้องกันการคดโกงและการฟอกเงินที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินอุดหนุนในเหตุวิกฤติที่ทำได้แบบตรงตัวกว่า เป็นต้น

หมากชิงความเป็นหนึ่งของโลก แต่ไม่ง่าย - มีบทวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจีนหลายส่วนระบุว่าเงินหยวนดิจิตอลเป็นหมากสำคัญตัวหนึ่งของการชิงความเป็นหนึ่งจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ความเป็นหนึ่งนี้มี 2 ส่วนด้วยกันคือการลดความสำคัญของระบบ swift ซึ่งเป็นระบบของอเมริกันที่ใช้กันเป็นมาตรฐานสากลและการให้เงินหยวนมีความเป็นสากลมาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้เขียนมองว่าการที่เงินหยวนจะมาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเรื่องระยะยาวมาก ตราบใดที่ประเทศจีนยังควบคุมบัญชีทุนอยู่ และเหตุการณ์โรคระบาดทำให้การเปิดเสรีบัญชีทุนมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ก็ไม่มีกรอบเวลาอยู่แล้ว ในแง่การโอนเงินระหว่างธนาคารนั้น จริงอยู่ที่หลายประเทศไม่อยากโอนเงินระหว่างประเทศผ่านระบบ swift

เพราะในทางเทคนิคเงินต้องไปแวะที่อเมริกา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าประเทศต่างๆ พร้อมที่จะย้ายค่ายมาอิงกับระบบของเงินหยวนที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเสรีได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การทำ QE แบบเทหมดหน้าตักของอเมริกา ก็น่าเชื่อว่าธนาคารกลางต่างๆ จะกระจายความเสี่ยงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศโดยเพิ่มน้ำหนักให้กับเงินหยวนบ้าง

 

ต่างจาก Ali Pay/Wechat Pay - สิ่งที่เงินหยวนดิจิตอลต่างจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในจีนอยู่แล้วคือในระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้น เจ้าของเงินต้องผูกกระเป๋าเงินกับบัตรธนาคารซึ่งสุดท้ายยังเป็นเงินกระดาษอยู่ การใช้จ่ายทำผ่านระบบ QR Code และข้อมูลการใช้จ่ายจะถูกเก็บอยู่ในอีโคซิสเต็มของบริษัทผู้พัฒนากระเป๋าเงินนั้นๆ ส่วนเงินหยวนดิจิตอลจะถูกเก็บอยู่ในมือถือของประชาชนโดยตรง การใช้จ่ายทำผ่านระบบ NFC ก็คือเอาโทรศัพท์มือถือมาแตะกัน และจะว่าไปแล้วให้ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสูงกว่าสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะข้อมูลการใช้จ่ายจะถูกจัดเก็บรวมกันที่ธนาคารกลาง ไม่กระจายอยู่ที่บริษัทเอกชน

 

 

ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ - ในชั้นนี้ ผู้เขียนขอประเมินเบื้องต้นว่า หากมีการใช้เงินหยวนดิจิตอลในวงกว้างก็จะไม่มีผลกระทบกับประชาชนทั่วไป สำหรับธุรกิจร้านค้าอาจถูกติดตามเรื่องการเสียภาษีได้ง่ายขึ้น ธนาคารพาณิชย์น่าจะเป็นกลุ่มที่มีผลกระทบมากที่สุด เพราะดูเหมือนธนาคารกลางจีนออกแบบเงินดิจิตอลนี้ ให้ลดทอนบทบาทธนาคารพาณิชย์ในการทำหน้าที่เป็นตัวส่งต่อกลไกราคา อีกทั้งความต้องการใช้ธุรกิจด้าน custodian และธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาจลดลง


หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารธุรกิจจีน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา