เทรดวอร์ทุบ-โควิดซ้ำ ฉุดนำเข้าเครื่องจักรวูบ

25 เม.ย. 2563 | 04:25 น.

ธุรกิจ Wait and See โควิด ผลพวงลดนำเข้าเครื่องจักรต่อเนื่อง การใช้กำลังผลิตภาพรวม ณ ปัจจุบันยังแค่ 50-60% ยังขยายได้อีกเพียบ สภาอุตฯชี้ดันกำลังผลิตได้ 80% เมื่อไรแห่นำเข้าเอง สั่งจับตาซัพพลายเชนโลกโยกย้ายอีกระลอกใหญ่ กระทบไทย

ปี 2562 สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่งผลกระทบการค้าโลก ส่งออกไทยติดลบ 2.6% (รูปดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่งผลให้การนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีสมัยใหม่ของผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกมีมูลค่า 6.57 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2% (กราฟิกประกอบ) ขณะช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยนำเข้าเครื่องจักรมูลค่า 1.57 แสนล้านบาท ลดลง 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการใช้กำลังผลิตของผู้ประกอบการยังมีเหลือยังไม่จำเป็นต้องนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มเติม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 3-4 เดือนแรกปีนี้ที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาด ส่งผลการผลิต ส่งออก นำเข้าทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างมากจากหลายประเทศปิดเมือง (ล็อกดาวน์) เพื่อคุมเข้มการแพร่เชื้อ ส่งผลผู้ประกอบการของไทยได้รับคำสั่งซื้อสินค้าลดลง และมีผลส่งผลถึงการตัดสินใจนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรและส่วนประกอบเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดลง

อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลายในเร็ววัน ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น การทยอยนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบหุ่นยนต์ แขนกล และอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังผลิตคงมีมากขึ้น แต่หากสถานการณ์โควิดยังลากยาวก็คงกระทบต่อการชะลอนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีออกไปอีก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการใช้กำลังผลิตโดยเฉลี่ยที่ 50-60% ของกำลังผลิตเต็มเพดาน ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าในปีที่ผ่านมาทำให้การส่งออกลดลง ส่วนปีนี้ถูกซํ้าเติมจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมภาพรวมเวลานี้สัดส่วน 80-90% ได้รับผลกระทบยอดส่งออกลดลง เช่นรถยนต์ ชิ้นส่วน แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่งผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนอื่นๆ ลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสัดส่วนอีก 10-20% เป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ ทำให้ได้รับคำซื้อในทิศทางที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์โควิด จากเป็นสินค้าจำเป็นในกลุ่ม สินค้าอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต่างๆ ก็ยังมีกำลังผลิตเหลือ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง เจลล้างมือ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

เทรดวอร์ทุบ-โควิดซ้ำ ฉุดนำเข้าเครื่องจักรวูบ

“การนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีลดลงตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ จากผลกระทบสงครามการค้าต่อเนื่องโควิด ซึ่งหากการใช้กำลังผลิตยังอยู่ที่ 50-60% ก็ไม่รู้จะซื้อเครื่องจักรมาเพื่ออะไร เพราะของเดิมก็ยังผลิตได้เหลือเฟือ แต่ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่เร่งกระตุ้นให้เอกชนมีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายการลงทุนรองรับอนาคต ซึ่งหากการใช้กำลังผลิตถึง 80% เขาคงพิจารณาขยายกิจการและเพิ่มการนำเข้าเครื่องจักรเอง”

อย่างไรก็ดีที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือผลพวงจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเวลานี้ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของโลกกำลังเริ่มมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งใหญ่ จากประเทศที่เป็นตลาดและมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่นสหรัฐฯ และยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก ได้เห็นแล้วว่า หลายสินค้าจำเป็นในช่วงโควิดผลิตไม่ได้เอง หรือผลิตไม่เพียงพอ ต้องพึ่งพาการนำเข้าทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าขาดแคลนไม่สามารถตอบ สนองได้ทันที เช่นหน้ากากอนามัย ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ

ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตประเทศเหล่านี้อาจหันผลิตสินค้าเองมากขึ้น หรือวางแผนด้านซัพพลายเชนครั้งใหญ่เป็นรอบที่ 2 จากรอบแรกมีการโยกย้ายครั้งใหญ่แล้วในช่วงสงครามการค้าที่ผ่านมาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกของไทยได้

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23 - 25 เมษายน พ.ศ. 2563