โจทย์หิน นอนแบงก์ อุ้มลูกหนี้ฝ่าโควิด

17 เม.ย. 2563 | 01:10 น.

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (Soft Loan) ของธนาคารออมสิน ขยายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการด้านสินเชื่อ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง มีเงิน เพียงพอที่จะดูแลลูกค้าให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ไปได้  

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (ประเทศไทย) หรือ VTLA (Vehicle Title Loan Trade Association) เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับสิทธิในซอฟต์โลนดังกล่าวเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพิจารณาจัดสรรซอฟต์โลนให้นอนแบงก์ สะท้อนถึงความพยายามของธปท.ที่ทำความเข้าใจตลาดและผู้ประกอบการ ในการช่วยแก้ไขปัญหาลูกหนี้ใน ทุกระดับ ซึ่งไม่ใช่แค่สถาบันการเงินแต่ครอบคลุมถึงนอนแบงก์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการลูกค้ารายย่อยจริงๆ ถ้าเทียบกับกลุ่มสถาบันการเงิน

“เป็นเจตนารมณ์ของธปท.ที่อยากให้ผู้ประกอบการนอนแบงก์ได้เข้าถึงแหล่งทุนและเป็นมาตรการช่วยสภาพคล่องให้นอนแบงก์ ระหว่างที่เยียวยาให้กับลูกค้าทีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการพักหนี้หรือยืดหนี้ ซึ่งไม่ใช่นำวงเงินนี้ปล่อยสิน เชื่อใหม่กับลูกค้าเพราะนอนแบงก์ แต่ละรายมีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อและงบประมาณไม่เท่ากัน ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้น”่

ทั้งนี้สมาคมได้หารือโดยตรงกับธปท.มาอย่างต่อเนื่องและได้ชี้แจงกับธปท.ถึงความจำเป็นของสมาชิก 10 ราย มีฐาน ลูกค้ากว่า 3 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อคงค้าง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบอาชีพอิสระไม่ว่าพ่อค้าแม่ค้า ถ้าเทียบกับธนาคารพาณิชย์แล้ว กลุ่ม ลูกค้าของสมาชิกสมาคม ใช้วงเงินสินเชื่อไม่สูงมาก แต่มีนัยสำคัญที่เป็นลูกค้ารายย่อยจริงๆ เพราะบางรายใช้วงเงินหลัก หมื่นบาทหรือสูงสุดไม่เกิน2 แสนบาท”

 

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล

 

สำหรับการจัดสรรซอฟต์โลน เบื้องต้นกำหนดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการนอนแบงก์ที่เป็นสมาชิกของ 6 ชมรม/สมาคม เช่น สมาคมลีสซิ่งไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล โดยให้แต่ละชมรม/สมาคม รวบรวมข้อมูลส่งธปท. เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเยียวยาลูกค้าก่อนที่จะขอรับสิทธิในซอฟต์โลน และหลังจากได้รับสิทธิในซอฟต์โลนแล้ว ต้องทำรายงานเสนอต่อธปท. โดยอาจจะทำเป็นรายเดือนหรือขึ้นกับนโยบายที่ธปท.จะกำหนดออกมา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่กำหนดรายละเอียดชัดเจนในการขอรับสิทธิซอฟต์โลน แต่เบื้องต้นทราบว่า จะปรับเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อ Soft loan ให้กับกลุ่มนอนแบงก์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% ต่อปี และอาจจะพิจารณาเป็นวงเงินหมุน เวียนประมาณ 10% ของยอดสินเชื่อที่ไม่เป็นเอ็นพีแอลคือ เป็นสินเชื่อคุณภาพดีเท่านั้น โดยธปท.ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการนอนแบงก์ให้เยียวยาลูกค้ามากกว่ามาตรฐานขั้นตํ่าของธปท. ซึ่่งสมาคมยังไม่ได้แบ่งสัดส่วนระหว่างหนี้ดีและหนี้เสียในพอร์ตสินเชื่อ 1.2 แสนล้านบาท ที่รับรายงานมาจากบริษัทสมาชิก จึงยังไม่ทราบจำนวนเงินซอฟต์โลนที่จะได้รับจัดสรร

“ความยากของนอนแบงก์ แม้จะได้รับซอฟต์โลน แต่ต้องมีเงินงบประมาณอีกส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะช่วยลูกค้า ดังนั้นในแง่การเยียวยา ต้องจัดสรรซอฟต์โลนให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และเดือดร้อนจริงๆ ส่วนคนที่ยังมีกำลังความสามารถ อยากให้ใช้จังหวะนี้คิดถึงส่วนรวม ขอให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน”

ดังนั้นโจทย์ของนอนแบงก์ ปีนี้คือ ทำอย่างไรจะเยียวยาลูกค้าได้ และโจทย์ในการให้สินเชื่อก็คงจะคล้ายๆ กันคือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องระมัด ระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในระหว่างที่ยังมองแนวโน้มไม่ออก ที่สำคัญในช่วงที่ Lock Down ประเทศ แต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ช่องทางสาขากว่า 6,000 สาขาของผู้ประกอบการนอนแบงก์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศต้องอำนวยความสะดวกและเยียวยาลูกค้าเพราะส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มลูกค้าชาวบ้านที่ไม่สะดวก ในการใช้ช่องทางดิจิทัลนัก

สำหรับภาพรวมธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถปีนี้ ยังประเมินแนวโน้มไม่ออก ต้องรอดูว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกินเวลาไปถึงเมื่อไหร่ผลกระทบ จะแค่ไหน แต่ 2 เดือนแรกปีนี้ยังทำตลาดได้ดี ซึ่งเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับการเรียก ร้องขอความช่วยเหลือจากลูกค้าผู้ประกอบการแต่ละรายจึงให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3566 วันที่ 16-18 เมษายน 2563