ออกบอนด์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เยียวยาผู้ฝากเงิน

11 เม.ย. 2563 | 06:50 น.

คลัง เตรียมกู้ล็อตแรก 2.5 แสนล้านบาท กันวงเงิน 3-5 หมื่นล้านบาท ออกบอนด์ออมทรัพย์ “เราไม่ทิ้งกัน” ขายประชาชนทั่วไป ช่วยเหลือ ผู้ฝากเงินยุคดอกเบี้ยตํ่า

มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ระยะ 3  วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยแหล่งเงินที่จำนำมาใช้จะเป็นการให้ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเงินก้อนแรกที่รัฐบาลต้องการดำเนินโดยเร็วคือ วงเงินกู้ 600,000 ล้านบาท ที่จะมาใช้ในการเยียวยาประชาชน และเกษตรกรเป็นเวลา 6 เดือน ล่าสุดจากการหารือร่วมกันของคณะทำงานกระทรวงการคลัง สรุปแนวทางในการกู้เงินเบื้องต้นจะกู้ล็อตแรก 2-2.5 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลได้วางแนวทางว่า การกู้เงินจะทำในหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การออกพันธบัตรออมทรัพย์ เราไม่ทิ้งกัน เพื่อขายให้กับประชาชนทั่วไป โดยวงเงินเบื้องต้นที่ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท โดยอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่า เงินฝากออมทรัพย์ เพื่อช่วยประชาชนผู้ฝากเงินให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยตํ่า ส่วนระยะเวลาของพันธบัตรและวงเงินที่ชัดเจนต้องมีการหารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง

“การออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลังครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย เพราะปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มาก จึงไม่มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต”

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยังไม่ได้สรุปรูปแบบการระดมทุนที่ชัดเจน ในเรื่องพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพราะต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และในหลักการรัฐบาลยืนยันแล้วว่า จะไม่ใช่การกู้เงินทั้งก้อน 1 ล้านล้านบาทมากองไว้ ซึ่งจะมีภาระดอกเบี้ย แต่จะเป็นการกู้เงินตามโครงการที่ต้องการใช้

“ตามมติครม.เอง จะกำหนดกรอบของการใช้เงินชัดเจนว่า จะต้องเสนอโครงการให้กับคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองเห็นขอบแล้ว จะเสนอเข้าครม.พิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อเห็นโครงการแล้ว จึงจะรู้ว่าจะระดมทุนในรูปแบบไหน ช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ซึ่งเรามีแนวทางการกู้เงินอยู่แล้ว ทั้งการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่เป็น Term loan การออกตั๋วเงินคลัง การออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรออมทรัพย์ด้วย”

ทั้งนี้ในการออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อขายให้กับประชาชนทั่วไปนั้น ในหลักการจะมีอยู่แล้ว แต่ว่า จะใช้ชื่อพันธบัตรอะไร ค่อยมาว่ากันอีกทีซึ่งในแต่ละปีงบ ประมาณในการระดมทุนของรัฐบาล จะมีส่วนหนึ่งที่กันไว้สำหรับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้กับประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพลังซื้อสูงมาก สามารถระดมทุนได้รวดเร็ว

สำหรับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2563 นางแพตริเซีย กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอขายพันธ บัตรออมทรัพย์ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้กับประชาชนทั่วไป 15,000 ล้านบาท อายุุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.7% และอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.95% โดยเสนอขายตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562- 24 เมษายน 2563 นี้

และอีก 5,000 ล้านบาท เสนอขายให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเป็นพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.00% เสนอขายมาตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2562-24 เมษายน 2563 เช่นกัน 

“เรากำลังปรับวงเงินการขายพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบ ประมาณ 2563 เช่นกันเพื่อให้สอด คล้องกับเงินกู้ใหม่ตาม พ.ร.ก.รวมถึงแผนการกู้เงินปกติ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วย”

ขณะที่การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบ ประมาณ 2562 วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยเป็นการออกครั้งที่ 1 วงเงิน 15,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.46% อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.00% ซึ่งขาดหมดในเวลารวดเร็ว ทำให้กระทรวงการคลังต้องเพิ่มวงเงินอีก 15,000 ล้านบาท โดยเป็นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.46% และอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.00% และเสนอขายครั้งที่ 2 อีก 20,000 ล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.50% และอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.05%

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ณ วันที่ 9 เมษายน 2563 เงินฝากประจำ 3 เดือนอยู่ที่ 0.6000-0.7000 ฝากประจำ 6 เดือนอยู่ที่ 0.8000-0.9000 ฝากประจำ 12 เดือนอยู่ที่ 0.9000-1.000% และฝากประจำ 12 เดือนอยู่ที่ 1.000-1.1000% หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563