เอดีบีคาดพิษโควิดทุบศก.ไทยลบ 4.8%

03 เม.ย. 2563 | 05:29 น.

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO) ประจำปี 2563 ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียกำลังพัฒนาคาดว่าจะลดต่ำลงอย่างแรงในปีนี้ (2563) เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในปี 2564  ขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้นคาดว่าจะหดตัวที่อัตรา 4.8% (-4.8%) ในปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นกลับมาขยายตัวที่อัตรา 2.5% ในปีหน้า

 

เอดีบีคาดพิษโควิดทุบศก.ไทยลบ 4.8%

 

เอดีบีคาดว่า ภูมิภาคเอเชียจะเติบโตอยู่ที่อัตรา 2.2% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการปรับลดลง 3.3 จุดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5.5% เมื่อเดือนกันยายน 2562 อย่างไรก็ตาม คาดว่าภูมิภาคเอเชียจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งที่ 6.2% ในปี 2564 หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยุติลงและกิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินได้ตามปกติ  ประเทศเอเชียกำลังพัฒนา (ไม่รวม ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน) คาดว่าจะเติบโต 2.4% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 5.7% ในปี 2562 ก่อนที่จะกระเตื้องมาขยายตัวในอัตรา 6.7% ในปีหน้า

เอดีบีคาดพิษโควิดทุบศก.ไทยลบ 4.8%

 

สำหรับประเทศไทย รายงาน ADO คาดว่า ปี 2563 นี้ เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 4.8% ก่อนจะกระเตื้องขึ้นในปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวที่อัตรา 2.5%

 

ทั้งนี้ เอดีบีระบุว่า การส่งออกและบริการ การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยจะยังคงมีแนวโน้มลดต่ำลงในปีนี้ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19เป็นหลัก ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในปี 2564  แต่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว  สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือที่ช่วยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในรูปแบบการดำเนินธุรกิจได้

 

บทความพิเศษของรายงานฉบับนี้ เป็นการประเมินผลกระทบล่าสุดของการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ  ความเสียหายของการแพร่ระบาดทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ คิดเป็นความสูญเสียประมาณ 2.3% ถึง 4.8% ของ GDP โลก   การคาดการณ์ครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมจากรายงานครั้งก่อนที่เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม  ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดในระดับโลก ทำให้มีการใช้นโยบายการกักกันและการห้ามเดินทางท่องเที่ยวกันทั่วโลก  และได้สะท้อนถึงข้อมูลล่าสุดที่สามารถบ่งชี้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในจีน

 

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ผลกระทบข้างต้นยังไม่ได้รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การหยุดชงักของการผลิต การติดขัดของการโอนเงินระหว่างประเทศ ต้นทุนในการดูแลสุขภาพเร่งด่วน การหยุดชงักของภาคการเงิน และผลกระทบในระยะยาวต่อการศึกษาและเศรษฐกิจ