วิกฤติสื่อสาร ซ้อนวิกฤติไวรัส

25 มี.ค. 2563 | 04:55 น.

 

ผมจะไม่ใจร้ายเกินไปที่จะกล้าฟันธงไปสรุปเองว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติของรัฐ มีปัญหาหรือไม่ อย่างไร ในภาวะการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่เราจะร่วมกันฟันฝ่าอยู่ในขณะนี้

แต่เท่าที่ฟังเพื่อนพี่น้องในวงการสื่อสารมวลชนก็พูดเรื่องนี้กันเป็นเรื่องหลัก เพราะการสื่อสารคือด่านแรกของความรับทราบ รับรู้ รับปฏิบัติของประชาชน หากสื่อสารผิด สื่อสารไม่ทั่วถึง ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว แทนที่จะเป็นเฟซบุ๊กของหน่วยงาน แทนที่วิกฤติจะได้รับความร่วมมืออย่างดี กลับกลายเป็นเติมความสับสนให้กับสังคมเข้าไปอีก

 

วิกฤติสื่อสาร  ซ้อนวิกฤติไวรัส

 

จึงอยากรวมไอเดียข้อเสนอแนะดีๆ จากวงการสื่อสารมวลชนมาฝากรัฐบาลให้ลองพิจารณา

วงแรกเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม วงหารือไม่เล็กไม่ใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างฝ่ายองค์กรสื่อหลายองค์กร กับฝ่ายของรัฐบาลนำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่ง รมว.สาธารณสุข เปิดฟลอร์ ขอความร่วมมือการสื่อสารและปฏิบัติตัวในสถานการณ์โรคโควิด-19 ถ้าประชาชนเข้าใจมากเพียงใดจะระงับการระบาดได้เพิ่มมากขึ้น จากนั้นก็บลาๆๆ เล่าถึงการทำงานของตัวเองและรัฐบาล


 

จากนั้นเป็นช่วงของฝ่ายองค์กรสื่อ ที่ติติงพร้อมแนะนำเรื่องการให้ข้อมูลกับสื่อ ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และท่าทีของรัฐมนตรีที่มีกับชาวต่างชาติ เสนอให้การแถลงข่าวมีการลำดับขั้นตอน สถานการณ์ ความพร้อม วิธีการใหม่ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ จัดคิวและโพเดียมแถลงเพื่อลดการรุมล้อม และการให้ข่าวของทางราชการเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน และอีกหลายข้อเสนอที่รองนายกฯอนุทินรับไปดำเนินการ

ส่วนอีกข้อเสนอที่น่าสนใจ เป็นของสุภิญญา กลางณรงค์อดีตกสทช. ที่เสนอรัฐบาล กสทช. และผู้เกี่ยวข้องในการปรับยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อรับมือกับวิกฤติโรคระบาด ซึ่งเป็นภัยพิบัติระดับชาติและระดับโลกแล้ว แต่การสื่อสารยังไร้ทิศทางไม่หนักแน่นพอ

ส่วนหนึ่งเพราะเราใช้ทีวีระดับชาติน้อยเกินไป ถ้าเทียบกับภัยพิบัติอื่นก่อนนี้ การใช้ทีวีระดับชาติทั้งรวมการเฉพาะกิจ ตัววิ่ง การล้มผังปกติเพื่อเกาะติดสถานการณ์จะช่วยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกประกาศทางการที่ออกมา 2-3 วันนี้ เช่น การปิดห้าง ควรเป็นเบรกกิ้งนิวส์รวมการเฉพาะกิจ ไม่ใช่แค่ไวรัลในเน็ต

สุภิญญา วิเคราะห์ว่า สื่อออนไลน์มีจุดเด่นคือกระจายอำนาจและคานดุลย์ข้อมูลข่าวสาร แต่ในภาวะภัยพิบัติหรือโรคระบาดแบบนี้ เป็นหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ต้องช่วยร่วมกันกำหนดวาระทางสังคม รวมศูนย์ข้อความที่ชัดเจน ถูกต้องจากรัฐ โดยมีสื่อออนไลน์ช่วยเสริมเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกทางความคิดเห็นความรู้สึกทำให้วาระข่าวสารเรื่องโควิค-19 เหมือนเราเกาะติดการเลือกตั้ง ข่าวถ้ำหลวง เตือนภัยสึนามิ หรืออื่นๆ

 “ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่จะตามข่าวในทวิตเตอร์ ส่วนในไลน์ก็เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าววงในมากมายไปหมด ถึงแม้ว่าเราจะมีแอพเยอะขึ้นให้คนติดตามข้อมูลได้ แต่โทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่คนส่วนมากเข้าถึงและเชื่อถือ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น

ข้อเสนอเหล่านี้น่าสนใจและหวังดีกับประเทศ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไม่มีการสูญเสียมากมาย ขอเพียงรัฐบาลเปิดใจแบบไม่โกรธเคืองกันกับข้อเสนอแนะติติง

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 22-28 มีนาคม 2563