หนุนกนง. อัดยาแรง ลดดอกเบี้ย 0.5%

19 มี.ค. 2563 | 21:30 น.

กูรูประสานเสียง กนง.อัดยาแรงลดดอกบี้ยลง 0.50% ไม่ต้องรอผลการส่งผ่าน พร้อมเสนออัดสภาพคล่อง ช่วยรายย่อยและเอสเอ็มอีประคองเศรษฐกิจ ชี้โจทย์ธปท.ขาดการสื่อสารแนะให้ข้อมูลเพิ่มความอุ่นใจ ด้านธปท.นัด Conference Call กับซีอีโอแบงก์ 18 มี.ค.นี้

 

ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินฉุกเฉิน เริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ที่ประกาศปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงถึง 2 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอยู่ที่ระดับ 0.00-0.25% ซึ่งเป็นระดับตํ่าสุดตั้งแต่ปี 2558 ก่อนกำหนดที่จะประชุมจริงวันที่ 18-19 มีนาคม ตามด้วยธนาคารกลางเกาหลีใต้(BOK)เอง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% จาก 1.25% เหลือ 0.75% เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 

ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) เริ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลวันเดียวกว่า 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1 แสนล้านเยน และตั้งเป้าที่จะซื้อกองทุน ETF ต่อทันทีในวงเงิน 12 ล้านล้านเยนและกองทุน J-REIT ในวงเงิน 1.2 แสนล้านเยน หากตลาดยังคงผันผวน และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ก็มีการเรียกประชุมฉุกเฉินไปก่อนหน้าแล้วเช่นกัน ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังคงยืนยันการประชุมตามกำหนดในวันที่ 25 มีนาคม 2563

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า มีความจำเป็นที่กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแรงในอัตรา 0.50% เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งผ่านที่ต้องใช้เวลา เพราะหากลดลงในอัตราน้อยแล้วคอยดูผล ไม่น่าจะประคองเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มอาจติดลบในครึ่งปีแรกได้ ขณะเดียวกันธปท.น่าจะมีมาตรการอื่นเพื่อสื่อสารว่า อนาคตยังมีเครื่องมือนโยบายการเงิน เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องหรือการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

 

หนุนกนง.  อัดยาแรง  ลดดอกเบี้ย 0.5%

อมรเทพ จาวะลา

ถ้าไม่ปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาส 1 และเป็นอัตราที่ลงแรง เพื่อประคองเศรษฐกิจ ธปท.ก็ต้องมีการอธิบายด้วยว่า จะมีมาตรการทางการเงินอื่นที่จะใช้ในอนาคต เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ โจทย์ของธปท.คือ ขาดการสื่อสาร ซึ่งน่ากลัว เพราะอาจทำให้ตลาดตกใจ

ทั้งนี้ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินเหลือสามารถซื้อหุ้นคืนได้ แต่ในผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความจำเป็นที่ต้องใช้แหล่งเงินต้นทุนตํ่า หรือ ซอฟต์โลน ซึ่งอาจจะเป็นเงินนอกงบประมาณที่นำมาอัดฉีดได้มากกว่าซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท จากธนาคารออมสิน แต่ที่สำคัญมาตรการที่จะทำต้องดำเนินการให้ตรงจุด

หนุนกนง.  อัดยาแรง  ลดดอกเบี้ย 0.5%

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติต้มยํากุ้งและวิกฤติซับไพรม์ สถานการณ์ขณะนี้ถือว่า เศรษฐกิจไทยเข้าโหมดวิกฤติ มีแนวโน้มที่ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ครึ่งปีแรกจะติดลบ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทุกอย่าง เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลังหรือนโยบายการเงิน ซึ่งคาดว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25-0.50% ในการประชุมวันที่ 25 มีนาคมนี้ แต่ถ้าปรับเพียง 0.25% จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 0.50% ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งเป็นระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก แต่ดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ตํ่ากว่า 0.50% เพราะธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเงินฝากที่ 0.47% และหากตํ่ากว่านี้จะไม่จูงใจให้คนฝากเงินด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่กล่าวว่า วันพุธที่ 18 มีนาคมนี้ ธปท.นัดประชุม(Conference Call)กับผู้บริหารระดับสูง หรือระดับซีอีโอของแต่ละธนาคารพาณิชย์ นำโดยสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเท่าที่ทราบ น่าจะประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสและผลกระทบในปัจจุบันและอาจจะมีการพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุน ทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็ม อีและเพื่อประคองเศรษฐกิจ

ส่วนมาตรซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ลูกค้าคิดดอกเบี้ย 2% ถือเป็นเฟสแรกที่แต่ละแห่งจะสนับสนุนรายจ่ายให้ลูกค้าในช่วงที่ไม่มีรายได้เข้ามาซึ่งหากวงเงิน หมดคาดว่าทางการจะพิจารณาซอฟต์โลนเฟส 2 ต่อไป

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19-21 มีนาคม 2563