เปิดแผนสำรอง รับมือโคโรนาระบาด ระยะ 3

08 มี.ค. 2563 | 04:47 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

การดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้หรือ เรียกกันว่า “ผีน้อย”  รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าแรงงานเหล่านี้จะต้องถูกคัดกรองที่สนามบินทั้งหมด หากพบอาการเข้าข่ายจะต้องถูกส่งตัวไปตรวจหาเชื้อไวรัส ส่วนที่เหลือจะถูกส่งตัวไป ที่อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อคัดแยกต่อว่าใครบ้างต้องถูกกักกันโรคในพื้นที่ที่กำหนด หากผ่าฝืนจะมีความผิดผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อแห่งชาติ พ.ศ.2558 มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบพบว่าสาเหตุที่รัฐบาลต้องมีมาตรการเข้มข้นออกมาใช้ในขณะนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในประเทศ จากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 ที่จะมีการระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่องการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมความพร้อมกับมือกับการระบาดของโรคในระยะต่างๆ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

ระยะที่ 1 พบผู้ป่วยจากต่างประเทศ แต่ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย เป้าหมายระยะแรก คือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ป้องกันการระบาดอย่างต่อเนื่อง และป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทาง การแพทย์และสาธารณสุข ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

 

ระยะที่ 2 ซึ่งอยู่ในช่วงปัจจุบัน เริ่มมีการแพร่เชื้อในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการติดต่อ ระหว่างบุคคลสู่บุคคล เช่น ในกรณีคนขับรถแท็กซี่ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวชาวจีน และอาจมีการติดเชื้อ ระหว่างบุคคลต่อเนื่องไปได้อีก ทั้งนี้ ในกรณีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ผล การระบาดของเชื้อโรคก็จะยุติ ในระยะนี้ แต่ถ้าการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไม่ได้ผล สถานการณ์จะขยายตัวเข้าสู่ระยะที่ 3

 

ระยะที่ 3 ช่วงการระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศ จะมีลักษณะคล้ายการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ (H1N1) การระบาดขยายตัวเพิ่มระดับ และขยายขอบเขต นอกจากจะทําให้มีจํานวนผู้ป่วยมากขึ้น อาจมี ผู้เสียชีวิต ซึ่งจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อสภาวะเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างมาก

 

ดังนั้น จึงจําเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่วงในจํากัดและมีผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยที่สุด ซึ่งมาตรการควบคุมการระบาดในระยะที่ 2 ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข จะประกอบด้วย 5 ด้านหลักๆ ได้แก่

 

1.เริ่มต้นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ด้วยการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (Prime Minister Operation Center) รายงานสถานการณ์ และประสานงานผ่านกลไกของกฏอนามัยระหว่างประเทศ ให้องค์การอนามัยโลกประจําภูมิภาค

 

2.จัดระบบเฝ้าระวังสําหรับผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จัดระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ และระบบการสอบสวน ป้องกัน ควบคุมโรค

 

3.หากพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือผู้สัมผัสโรค ต้องสอบสวนโรค ดูแลรักษาพยาบาล ตรวจวินิจฉัยโรค ติดตามผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว

 

4. หากพบการแพร่ระบาดของโรคนี้ ให้ยกระดับการดําเนินการตามคําแนะนําสําหรับประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

5. แยกผู้ป่วย และติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรค ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

เปิดแผนสำรอง รับมือโคโรนาระบาด ระยะ 3

อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาให้อยู่ในวงจำกัด และลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 3 กล่าวคือมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในวงกว้างในประเทศไทย รัฐบาลก็จะมี 17 มาตรการออกมาแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย

 

1.จังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณี ฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

2.ให้มีการกําหนดบุคลากรที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ขั้นตอนการควบคุมการระบาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ประเทศสามารถดําเนินการในการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการดําเนินการจัดหาเงินทุนในภาวะฉุกเฉินเพื่อดําเนินการรักษา มีการใช้ มาตรการที่จําเป็นทั้งหมดใน การดูแลสุขภาพ

 

3.เปิดกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติภายใต้การบัญชาการสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือนายกรัฐมนตรี ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 โดยมีศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินระดับกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วย รับผิดชอบในการให้ข้อเสนอแนะ และประสานการปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมโรคอย่าง ต่อเนื่อง

 

4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับต่างๆ เป็นผู้นําในการตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเข้าถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และจัดตั้งศูนย์สําหรับการรักษาพยาบาล

 

5.สร้างความมั่นใจและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเต็มที่ ผ่านผู้นําผู้นําชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนมีบทบาทสําคัญในการระบุผู้ป่วย การติดตามผู้สัมผัส และการสื่อสารความเสี่ยง ประชาชนควรตระหนักถึงประโยชน์ของการรักษาในเบื้องต้น

 

6.จัดให้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย (PPE)บุคลาการทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ พนักงานทําความสะอาด และบุคลากรอื่นๆ ที่ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

 

7. จัดการดูแลรักษาให้มีคุณภาพ จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และการช่วยเหลือดูแลสุขภาพจิตใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดอัตราการอพยพของประชาชน สําหรับมาตรการพิเศษอื่น ๆ เช่น การแยก กักผู้สัมผัสจะพิจารณาดําเนินการตามความจําเป็น

 

8.สร้างความมั่นใจให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ โดยมีมาตรการด้านความปลอดภัยมีชุดป้องกัน(PPE) อย่างเพียงพอมีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม สําหรับผู้ที่ปฏิบัติงานภายใต้สภาวะเสี่ยง อันตราย มีการให้ความรู้การอบรมเรื่อง การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ ป้องกันตน (PPE)

 

9.จัดศูนย์การรักษาพยาบาล และห้องปฏิบัติการสําหรับตรวจวินิจฉัยโรคที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมากที่สุด มีเจ้าหน้าที่และเครื่องมือที่จําเป็นรองรับอย่างเพียงพอกับปริมาณผู้ป่วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยมีความปลอดภัยซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ ป้องกันตนอยู่เสมอ

 

10.คัดกรองผู้เดินทางขาออกระหว่างประเทศที่ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ที่สําคัญ สําหรับคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้ ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจ ที่อาจจะเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในการคัดกรองอย่างน้อยต้องมีการสอบถาม การวัดอุณหภูมิ หากมีไข้ให้ประเมินความเสี่ยงว่า อาจติดโรค ซึ่งหากได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว ไม่ควรอนุญาตให้มี การเดินทาง เว้นแต่เป็นการเดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล

 

 

11.ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะต้องถูกแยกและรักษาที่หน่วยรักษาพยาบาล โดยไม่ให้มีการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ (ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์) จนกว่าจะมีการทดสอบผลจําเพาะ 2 วิธี ซึ่งตรวจห่างกัน 24 ชั่วโมง ให้ผลลบ

 

12.ผู้สัมผัสโรค (ไม่รวมบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการที่มีการป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม ควรได้รับการเฝ้าระวังอาการทุกวัน จํากัดการเดินทางในประเทศ และห้าม เดินทางระหว่างประเทศจนกว่าจะครบ 14 วันหลังการสัมผัสเชื้อ

 

13.สําหรับผู้ป่วยที่เข้าข่ายหรือผู้ป่วยสงสัย ควรมีการแยกผู้ป่วยทันที มีการจํากัดการเดินทาง จนกว่าจะมีการระบุได้ว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันหรือผู้สัมผัส

 

14.มีการเตรียมการบริการทางสุขภาพสําหรับลูกเรือ และเจ้าหน้าที่สายการบิน ได้ทันท่วงที และมีการทํางานร่วมกันกับสายการบิน และอํานวยความสะดวกด้านการสื่อสาร มีการติดต่อสื่อสาร และมี การจัดการผู้โดยสารที่มีอาการป่วยภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) มีกลไกการติดตามผู้สัมผัส เมื่อต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผู้โดยสาร

 

15.ควรมีการเลื่อนการรวมตัวของคนหมู่มากจนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้

 

16.ในชุมชน ป้องกันการติดเชื้อในชุมชน การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่เหมาะสม เชี่ยมโยงข้อมูลทาง ระบาดวิทยากับห้องปฏิบัติการ

 

17.ประคองกิจการ ในบริการสาธารณะที่จําเป็น การดูแลความเป็นอยู่ในพื้นที่ควบคุมโรค