ลุยศึกษาทางคู่”ศรีราชา-ระยอง”อีก2ปีประมูล

24 ก.พ. 2563 | 11:47 น.

 

 

 

ร.ฟ.ท.เร่งเดินหน้ารถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-ระยอง -จันทบุรี -ตราด (คลองใหญ่) หลังรับฟังความเห็นประชาชน หนุนเส้นทางอีอีซี ขณะที่รถไฟทางคู่เฟส 2  เตรียมเสนอของบ สภาพัฒน์ฯ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย เชื่อมทางคู่จิระ - แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด รวมถึงรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ฯ คาดประมูลปลายปี 65

 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา-ระยอง จันทบุรี ตราด(คลองใหญ่) ว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ศึกษาความเหมาะสม และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณเพื่อออกแบบโครงการ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ช่วงระยอง จันทบุรี ตราด ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

 

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้ศึกษาความเหมาะสมของรถไฟทางคู่ ช่วงระยอง จันทบุรี ตราด แล้วเสร็จ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 1 เมตร โดยประเมินงบประมาณลงทุนราว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าในกลุ่มผลไม้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของภาคตะวันออก และมีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจำนวนมาก

 

"รถไฟทางคู่เส้นใหม่ ระยอง จันทบุรี ตราดนี้ จะเป็นเส้นทางรถไฟสายหลักที่สนับสนุนการขนส่งสินค้าและขนส่งผลไม้ และกระจายการกระจุกตัวของภาคการท่องเที่ยวไปยังทะเลตราด โดยขั้นตอนหลังจากศึกษาเสร็จ การรถไฟฯ ตั้งเป้าจะของบประมาณประจำปี 2564 เพื่อออกแบบ โดยใช้เวลาออกแบบราว 1 ปี หลังจากนั้นจะเสนอขออนุมัติจากสภาพัฒน์ฯ กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับออก พรฎ.เวนคืนที่ดิน หากไม่ติดปัญหาก็คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลงานก่อสร้างได้ปลายปี 2565 ซึ่งจากการรับฟังความเห็น ประชาชนและเอกชนให้การตอบรับดี ดีมานด์ความต้องการใช้มีสูง"

 

ขณะที่โครงการไฮสปีดเทรน ช่วงระยอง จันทบุรี ตราด ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ ร.ฟ.ท.ศึกษาเพื่อขยายแนวเส้นทางต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยแนวเส้นทางจะคู่ขนานไปกับรถไฟทางคู่ แต่สาเหตุที่ ร.ฟ.ท.เริ่มศึกษา เพราะต้องการทราบถึงดีมานด์การเดินทางและสนับสนุนการขยายเมืองให้มากขึ้น เบื้องต้นได้ประเมินว่าไฮสปีดเทรนอาจจะยังไม่ได้พัฒนาในเร็วๆ นี้ หากเทียบกับความคุ้มค่าของรถไฟทางคู่ที่มีมากกว่า หากจันทบุรี และตราด มีความต้องการเดินทางสูง ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

 

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่ ร.ฟ.ท.ศึกษาแล้วเสร็จไปก่อนหน้านี้ อยู่ระหว่างการเสนอข้อมูลเพิ่มเติมให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เบื้องต้น คาดว่า สศช.อาจจะไม่อนุมัติให้พัฒนาทุกโครงการที่ยังค้างอยู่รวม 7 เส้นทาง เนื่องจากต้องจัดสรรงบประมาณการลงทุน จึงคาดว่าโครงการที่มีความเหมาะสม และอาจได้รับการอนุมัติให้พัฒนาก่อน อาทิ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางเชื่อมกับทางคู่จิระ - แก่งคอย และเชื่อมต่อถึงท่าเรือมาบตาพุด รวมถึงรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ฯ เนื่องจากปัจจุบันรถไฟทางคู่มีการพัฒนาไปถึงช่วงชุมพร และต่อจากนั้นยังเป็นระบบรถไฟทางเดี่ยว ส่งผลให้มีปัญหาคอขวด ในช่วงชุมพร - สุราษฎร์ฯ หากได้รับการอนุมัติให้พัฒนา ก็จะช่วยลดปัญหา เช่นเดียวกับช่วงจิระ - อุบลราชธานี ถือเป็นอีกแนวเส้นทางที่จะสนับสนุนการเดินทางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปริมาณความต้องการเดินทางสูงอย่างต่อเนื่อง