TIP ลุยประกัน ตลาดต่างประเทศ

21 ก.พ. 2563 | 04:20 น.

สัญญาณการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นดีกว่าคาด ส่วนหนึ่งมาจาก การเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เป็นตัวกระตุ้นให้คนตระหนักถึงความสำคัญของประกันภัย ซึ่งช่วงแรกอาจเป็นความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นคนจะหันมาให้ความสำคัญต่อการประกันภัย และมีแนวโน้มจะซื้อประกันภัยมากขึ้น

สมพร สืบถวิลกุลกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทิพยประกันภัย สะท้อนมุมมองต่อธุรกิจประกันวินาศภัยช่วงต้นปี 2563ว่า ที่ผ่านมารวมทั้งเหตุการณ์ที่เทอร์มินอล 21 เป็นการพิสูจน์ตัวเราเองถึงการจัดสรรประกันภัยต่อได้ดีมาก เฉลี่ยบริษัททำประกันภัยต่อ 80% โดยไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตประกันภัยต่อใหม่

ตอนนี้ ยังไม่ได้ประเมินความเสียหายกรณีเทอร์มินอล 21 แต่มีทีมประเมินความเสียหายเข้าไปร่วมทำงานกับลูกค้าคือเทอร์มินอล 21 ซึ่งหากต้องมีการซ่อมสร้าง สามารถดำเนินการได้ทันทีส่วนเหตุการณ์ที่เกิดจากเทอร์มินอล 21 ทางรีอินชัวเรอร์ไม่ได้วิตกเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุในประเทศไทย แตกต่างกับต่างประเทศและไม่น่าจะปรับเพิ่มเบี้ยประกัน ประกอบกับในทางธุรกิจประกันภัย ยังไม่ถือว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพราะเป็นความเสี่ยงที่บริษัทคาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจจะเกิดขึ้นได้

ส่วนแนวโน้มภาพรวมปีนี้ บริษัทประกันวินาศภัยส่วนใหญ่ที่ประกาศตัวเลข จะเติบโตเท่ากับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) หรือสูงกว่าเล็กน้อย โดยทั้งอุตสาหกรรมน่าจะเติบโต 2-3% ส่วนบมจ.ทิพยประกันภัย ตั้งเป้าท้าทายตัวเองมากกว่านั้น แต่ยังคงเดินตามกลยุทธ์ที่ได้วางไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยบมจ.ทิพยได้ออกกรมธรรม์พิเศษจากปัจจัยไวรัสโคโรนา ซึ่งประชาชนตื่นเต้นและให้ความสนใจกันมาก ส่วนหนึ่งเพราะตอนนี้ที่ยังไม่รู้วิธีการรักษา หรือควบคุมอย่างจริงจัง แต่ด้วยความก้าวหน้าของวิทยากาทางการแพทย์ เชื่อว่าอีกสักระยะ จะมีวิธีการในการรักษาได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะระงับได้เร็ว

TIP ลุยประกัน ตลาดต่างประเทศ

สมพร สืบถวิลกุล

 

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน บริษัทยังวางแผนธุรกิจเมื่อปลายปีก่อนอย่างระมัดระวัง เพราะไม่มั่นใจว่า จะสามารถออกงบประมาณปี 2563 ได้เร็วอยู่แล้ว แต่ในแง่ของงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ส่วนใหญ่จะออกมาหลังไตรมาส 2 ดังนั้นจึงไม่ได้กระทบกับบริษัทประกันวินาศภัยในเรื่องนี้มากนัก  โดยช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงโครงการ Mega project ของภาครัฐ จะเริ่มในไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 เป็นส่วนใหญ่

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านต่างประเทศนั้นสมพรกล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจเป็นผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) จากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยเฉพาะที่ผ่านมาปลายปี 2561 บมจ.ทิพยได้รับการจัดอันดับเครดิตหรือเรตติ้ง A- Stable ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทต่างประเทศติดต่อเข้ามา ดังนั้นปีนี้มีแนวโน้มที่บริษัทจะรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศเข้ามาในไทยภายในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยจะมาจากงานประเภทที่ไม่ใช่รถยนต์หรือ นอน-มอเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย งานรับประกันภัยด้านการก่อสร้าง (CIR) กับประกันภัยด้านทรัพย์สิน (IAR) ทั้งในญี่ปุ่น และมาเลเซีย

 

เราพยายามจะใช้ Capacity ให้ได้มากที่สุด สมมติแต่ละปีเราซื้อประกันภัยมารองรับความเสียหายที่ประเมินไว้ 50,000 ล้านบาท แต่ขายในประเทศได้จริง 20,000 ล้านบาท จึงมี Capacity เหลือจึงอยากใช้ประโยชน์ตรงนี้ไปรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศเข้ามาเพราะปัจจุบันเรารับเฉพาะในประเทศอย่างเดียว และเรายังอยู่ระหว่างศึกษาขยายธุรกิจประกันไปในต่างประเทศ คาดว่าจะเห็นไตรมาส 3 เบื้องต้นคาดว่าจะตั้งบริษัท ทิพยประกันภัยฯ ในกัมพูชา ซึ่งร่วมกับพันธมิตรกลุ่มบริษัทประกันในเมืองไทยกับพันธมิตรในท้องถิ่น

ส่วนสัดส่วนหรือเพดานการถือหุ้นนั้น อยู่ระหว่างศึกษากฎกติกาของทางการกัมพูชา ซึ่งการตั้งบริษัทนั้น จะดำเนินธุรกิจทั้งประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิต โดยต้องได้รับใบอนุญาตทั้ง 2 ใบ (License) ค่าใบอนุญาตอยู่ที่ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งจะเริ่มที่ประกันวินาศภัยก่อน คาดว่าน่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่่งการขยายธุรกิจไปต่างประเทศนั้นไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาเพียงอย่างเดียว แต่การที่บริษัทได้รับการจัดอันดับ Rating จะสามารถคัดสรรภัยหรือประกันภัยต่อจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์  2563