หุ้นสื่อสารรีบาวด์คลายกังวลสงครามราคา 

17 ก.พ. 2563 | 06:06 น.

หุ้นสื่อสารรีบาวด์คลายกังวลสงครามราคา  โบรกหั่นกำไร -ราคาเป้าหมาย ADVANC - TRUE  บล.กสิกรไทย คงมุมมอง"บวก"เซ็กเตอร์สื่อสาร "ทิสโก้" มองกลยุทธ์  ADVANC ประมูลราคาคลื่น 700 MHz หวังลดทอนคู่แข่ง

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการประมูล 5G ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ( ADVANC - TRUE - DTAC ) ใช้วงเงินรวมกันประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่บล.กสิกรไทยคาดการณ์13% และเมื่อเทียบกับกรณีประมูล 4G ที่ผู้ประกอบการดังกล่าวใช้วงเงินรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท  ด้วยราคาประมูลในรอบนี้ที่มีต้นทุนถูกกว่ากรณี 4G ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นหุ้นปรับลง หลังปรับลงมามากเกิน จึงไม่น่าจะปรับลงอีกและมีโอกาสจะรีบาวด์  ประกอบกับไม่มีรายใหม่เข้ามาแข่งขัน 

ส่วนการแข่งขันหลังจากนี้ เชื่อจะไม่เกิดสงครามราคาแต่เป็นสงครามการตลาดมากกว่า เหตุผลเนื่องจาก

1.ประมูล5G รอบนี้  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ได้ใบอนุญาตมากสุดครบทั้ง 3 คลื่นความถี คือ 700MHz ได้ 1 ใบอนุญาต, 2600MHz ได้ 10 ใบอนุญาต และ 26GHz ได้ 12 ใบอนุญาต ใช้เงินลงทุนมากสุดประมาณ 42,060 ล้านบาท เราไม่คิดว่า  ADVANC จะทำสงครามราคา

2 ส่วนรายที่เพลี่ยงพล้ำคือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ DTAC หากเทียบกับรอบประมูล 4G รายที่เพลี่ยงพล้ำคือ ADVANC  ซึ่งการที่ DTACเพลี่ยงพล้ำผลลัพธ์ที่ตามมา จะไม่รุนแรงเท่ากรณี ADVANC ที่่มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่ามาก

3 ปัจจุบันยังไม่มีเครื่อง 5G ล่าสุดเพิ่มจะมีการเปิดตัวเครื่อง5G เช่น SAMSUNG Galaxy S20  ราคายังค่อนข้างสูงเป็นกลุ่มระดับไฮเอนด์  ดังนั้นการตลาดจึงไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันรุนแรงเพื่อแย่งลูกค้า คาดจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

บล. กสิกรไทย ยังคงมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มหุ้นสื่อสาร อย่างไรก็ดีเมื่อคำนวณทั้งADVANCและTRUE ซึ่งมีต้นทุนจากการได้คลื่น 5G บวกผลกระทบที่เกิดจากสงครามการตลาด จึงได้ปรับกำไรของ ADVANC ลง  8-16% ปรับราคาเป้าหมายหุ้นของ ADVANC ลง 7% เป็น 226.46 บาทต่อหุ้น

ส่วนหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TRUE ได้ปรับน้ำหนักจากกำไรเป็นขาดทุน และปรับราคาเป้าหมายหุ้น TRUE ลง 11.00% เป็นราคาเป้าหมายใหม่ที่ 5.83 บาทต่อหุ้น และยังคงแนะนำ "ขาย "สำหรับหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC เนื่องจาก DTAC แม้จะประหยัดงบในการประมูลแต่คาดจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างน้อย 2 ปี  ยกเว้น DTAC อัพเกรด คลื่น 2300 ของตัวเองเป็น 5G  แต่ความสามารถแข่งขันยังต่ำอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ทั้งนี้หากเทียบจากราคาหุ้นปิด ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2562 จนราคาหุ้นสุดท้ายที่เข้าประมูล(14 กุมภาพันธ์ 2563) ส่งผลให้หุ้น ADVANC มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปหายไป 2.7 หมื่นล้านบาท  DTAC หายไป 7.3 หมื่นล้านบาท และ TRUE หายไป 2.2 หมื่นล้านบาท 

ด้านบล.ทิสโก้ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  การประมูลเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์ คลื่น 700 MHz มีการประมูลกันไปมากถึง 20 รอบ ก่อนที่ CAT จะได้ไป 2 สัญญาที่ 1.72 หมื่นล้านบาท หรือ 95% สูงกว่าราคากลาง ในขณะที่ ADVANC ได้ไป 1 สัญญา ในขณะเดียวกัน คลื่น 2600 MHz มีการประมูลที่ต่ำ โดยที่ ADVANC ได้ไป 10 สัญญา และ TRUE 9 สัญญา ที่ราคา 1.96 หมื่นล้านบาท ด้านคลื่น 26 GHz มีการแข่งขันที่ต่ำตามคาด แต่ ADVANC ได้ไป 12 สัญญา และ TRUE ที่ 8 สัญญา โดยที่ปกติแล้วคลื่น 26 GHz จะไว้ใช้สำหรับ IOT และบรอดแบนด์ไร้สายที่ยังไม่มีการใช้งาน

*ADVANC รับภาระแทนกลุ่ม ?

สิ่งที่เราประหลาดใจที่สุดในการประมูลคลื่น 700 MHz คือ การประมูลราคาของ ADVANC ซึ่งเราคาดว่าจะมาจาก 1) จงใจแข่งราคาเพื่อให้ CAT เหลือวงเงินในการประมูลคลื่นอื่นๆ ลดลง   2) เพื่อจะทำให้ CAT เป็นพันธมิตรกับค่ายอื่นมาแข่งกับ ADVANC และเป็น Reseller ได้ยากขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม ทำให้ ADVANC ได้คลื่น 2x10 มาในราคาที่สูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ TRUE ได้คลื่น 2600 MHz มาในราคาที่ต่ำ และไม่ได้ร่วมในสงครามราคา ทำให้แทบไม่ได้รับผลกระทบ

ADVANC ใช้เงินประมูล 4.2 หมื่นล้านบาท, TRUE ใช้ 2.12 หมื่นล้านบาท และ DTAC 890 ล้านบาท ทำให้เราปรับประมาณการของ ADVANC, INTUCH และ TRUE ลง 1 – 21% ตามการตัดจำหน่าย และ DTAC แทบไม่กระทบ 

ประมาณการที่ปรับลดยังไม่ได้รวมผลกระทบของ TFRS-16 แต่ผลกระทบที่จำกัด และการประมูลที่ผ่านมาจะกดดันกระแสเงินสดในอนาคต   ในปัจจุบัน ADVANC และ TRUE มีคลื่นส่วนใหญ่ของ 5G ในมือ (43% และ 39% ตามลำดับ) แต่ผลการประมูลคิดเป็น -6 บาท/หุ้น ของ ADVANC และ 0.6 บาท สำหรับ TRUE แต่ชดเชยบางส่วนจากส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคต +4 บาท สำหรับ ADVANC และ 0.50 บาท สำหรับ TRUE

บล.ทิสโก้ยังคงแนะนำให้ “ซื้อ” TRUE และ INTUCH โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 6.90 บาท และ 70 บาท ตามลำดับ และแนะนำให้ “ถือ” ADVANC และ DTAC ที่ 218 บาท และ 59 บาท ตามลำดับ 

หุ้นสื่อสารรีบาวด์คลายกังวลสงครามราคา 


 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ได้ปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายของ ADVANC และ TRUE จากราคาใบอนุญาตทั้งหมดที่ ADVANC ประมูลได้อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าสมมติฐานในกรณีฐานของเราถึง 250%  จึงได้ปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 247 บาท (จากเดิม 257 บาท) ในขณะที่ราคาใบอนุญาตที่ TRUE ประมูลได้อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าสมมติฐานในกรณีฐานของเรา 76% จึงปรับลดราคาเป้าหมายที่คำนวณโดยวิธี DCF ลง 0.27 บาท/หุ้น เหลือ 4.63 บาท ส่วนของ DTAC แม้จะจ่ายค่าใบอนุญาตน้อยกว่าสมมติฐานในกรณีฐานของเรา 93% แต่เรายังคงราคาเป้าหมายเอาไว้เท่าเดิม เพราะบริษัทอาจจะต้องใช้งบมากขึ้นในการอัดโปรโมชั่น และอุดหนุนค่าเครื่องเพื่อรักษาฐานลูกค้า

การประมูลใบอนุญาตรอบนี้ยังส่งผลกับงบกำไรขาดทุนกล่าวคือ ADVANC จะมีค่าใช้จ่าย amortization เพิ่มขึ้นปีละ 2.4 พันล้านบาท แต่จะยังไม่ต้องบันทึกค่าใช้จ่าย amortization ของคลื่น 700MHz ในปี 2020 ดังนั้น จึงได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ลงแค่ 2.1% และปรับลดประมาณการกำไรปี 2564 ลง 5.2% ส่วนในกรณีของ TRUE เคาดว่าค่าใช้จ่าย amortization จะเพิ่มขึ้นปีละ 611 ล้านบา ดังนั้น TRUE จึงน่าจะยังคงมีผลขาดทุนต่อไปอีกในปี 2563 และได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2564 ลง 27% เหลือ 1.67 พันล้านบาท

ยังคงชอบ ADVANC และ INTUCH ด้วยเหตุผลสามข้อ ได้แก่ (1) แม้ว่าค่าใช้จ่าย amortization จะเพิ่มขึ้นจากคลื่น 5G แต่กำไรของ ADVANC ก็ยังโตได้ในปี 2563 และการเริ่มเก็บค่าบริการจากการให้บริการ 5G ก็จะทำให้ประมาณการกำไรปี 63 ของเรามี upside (2) ADVANC จะยังคงสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอัตรา 70% จากงบดุลที่แข็งแกร่ง และ (3) ราคาหุ้นในปัจจุบันไม่แพง โดยอยู่บริเวณขอบล่างของช่วง P/E ในอดีต และสะท้อนปัจจัยลบต่าง ๆ รวมถึงการแข่งประมูลคลื่นรอบที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว

ดัชนีหุ้นกลุ่มสือสารปิดตลาดภาคเช้า ( 17 กุมภาพันธ์ ) ยืนที่ 156.60 จุด บวก 2.07% หุ้น ADVANC ปิดที่ 212 บาท+3.92% เพิ่มขึ้น 8.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,871.71 ล้านบาท ราคาสูงสุด 212.00 บาท ต่ำสุด 208.00 บาท

หุ้น TRUE ราคาล่าสุดยืนที่ 3.98 บาท +1.02 % สูงสุดที่ 4.08 บาท ต่ำสุด 3.92 บาทมูลค่าซื้อขาย 456.45 ล้านบาท และหุ้น DTAC ล่าสุดอยู่ที่ 41.00 บาท เปลี่ยนแปลง -2.38%  ราคาสูงสุดยืนที่ 41.50 บาท ต่ำสุด 40.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 190.55 ล้านบาท