12 ปี พ.ร.บ.ควบคุมน้ำเมา ร้องเรียนพุ่ง เอาผิดได้น้อย

05 ก.พ. 2563 | 12:30 น.

เสวนาครบ 12 ปี พ.ร.บ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยอดร้องเรียนนับพัน แต่เอาผิดได้น้อย สวนทางกันธุรกิจงัดโปรโมชั่นกลับโตขึ้น 

 

     วันนี้ (5กุมภาพันธ์ 2563) เวลา10.00 น. ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ จัดงานครบรอบ “12ปี  พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” โดยมีภาคีเครือข่ายงดเหล้าจากทั่วประเทศข้าร่วมกว่า100คน 

 

เสวนาครบ 12 ปี พ.ร.บ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

     นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ในรอบ1ปีที่ผ่านมา พบข้อมูลการร้องเรียนการทำผิดกฎหมาย มีมากถึง1,100 เคส กว่าร้อยละ80 ล้วนเป็นความผิดของกลุ่มธุรกิจน้ำเมา และร้อยละ 20 ที่ประชาชนเป็นผู้กระทำผิด สำหรับความผิดที่พบมากที่สุดคือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด ร้อยละ60 โดยพบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ 

     “เครือข่ายฯยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์  ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์  เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆมักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือภัยคุกคามสำคัญ ที่ธุรกิจน้ำเมา คุกคามมอมเมาประชาชน สังคม ที่ต้องก้มหน้ารับผลกระทบ ขณะที่ธุรกิจกอบโกยฝ่ายเดียว ประชาชนสังคมต้องตื่นตัว ร่วมด้วยช่วยกันเป็นหน่วยเฝ้าระวัง” นายคำรณ กล่าว

     นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 12 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้ตั้งเป้าการทำภารกิจ ปี63 ดังนี้ 1.ทบทวนกฎหมายหลัก เพื่อปรับร่างกฎหมายลูก ให้พร้อมสำหรับการเสนอกฎหมายฉบับใหม่ 2.ระดมความคิดเห็นจากประชาชน ถึงทิศทางการดำเนินงาน เพื่อทำยุทธศาสตร์ชาติ 3.ทบทวนมาตรการเดิมที่ต้องใช้ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายหลัก และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.การบำบัดรักษานักดื่ม ให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ 5.การสร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชนเพื่อรณรงค์ให้เห็นภัยของสุราภายใต้สโลแกน “Work Together” โดยขอความร่วมมือตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ไปสู่ภาครัฐและเอกชน 

 

     นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนกว่า 2,000 เคส สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย  เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง เมื่อเกิดการร้องเรียนเราได้กระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมาย ตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนอันดับ1 คือ การโฆษณา 2. ขายในที่ห้ามขาย และ3. จัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม 

     “การดำเนินคดีกรณีใช้โลโก้มาโฆษณาขายโซดา น้ำแร่ และเบียร์ 0% ทั้งหมดนี้ได้เข้าอนุพิจารณาความผิดเบื้องต้นแล้ว ซึ่งอนุพิจารณาชี้ว่าเข้าข่ายมีความผิด และได้ยื่นเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อมีการตัดสินที่ชัดเจนว่าผิด จะสามารถชี้ชัดว่าการโฆษณาโดยใช้โลโก้แฝงผิดจริง ในส่วนของร้านค้าผับบาร์ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่าอ้างไม่รู้เพราะก่อนขายต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตต้องรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องพอสมควร สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องขับเคลื่อนทางวิชาการ ควรดูบทเรียนเรื่องยาเสพติดเป็นตัวอย่าง การใช้หลักทำความเข้าใจกับนักดื่ม ร้านค้า และคนในชุมชม ต้องใช้กลไกหลายส่วนร่วมกัน เดินไปในทิศทางเดียวกัน” นพ.นิพนธ์ กล่าว

 

เสวนาครบ 12 ปี พ.ร.บ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

     ขณะที่ นพ.มูฮัมหมัด ฟาร์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีมูลค่ารวมถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้ผู้ค้าขายได้รับกำไรมากมาย นำไปสู่การขยายธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มช่องทางขายมากขึ้น เมื่อสินค้าได้กำไรทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงในการผลิต โดยไม่คำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เราจึงต้องแก้ปัญหาเบื้องต้น ด้วยวิธี  Best Buy Policy หรือนโยบายที่ดีที่สุดคุ้มค่าและประหยัด เช่น ขึ้นภาษีสุรา,จำกัดสถานที่ขาย,จำกัดเวลาซื้อ,จำกัดอายุผู้ซื้อ สามารถควบคุมและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายได้ ส่วนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือ การตั้งจุดตรวจแอลกอฮอล์ แม้วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าการออกกฎหมายควบคุม แต่ยังใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง ส่วนปัญหาที่ยังแก้ยากและยังแก้ได้ไม่ทั่วถึง คือการควบคุมร้านขายของชำหรือร้านค้าปลีกในชุมชม แม้จะมีพ.ร.บ.ควบคุม แต่ร้านค้ามีใบอนุญาตขายเหล้าเกือบ 6 แสนใบ ทำให้ควบคุมยาก

     “การรณรงค์จะมีผลสัมฤทธิ์ต้องอาศัยพลังของประชาชน พลเมืองในประเทศ โดยในรอบ1 ปีที่ผ่านมาผลสำรวจพบคนดื่มเหล้าในไทยมีเพียง ร้อยละ30 ซึ่งอีกร้อยละ 70 จะไม่แตะต้องเหล้าเลย ในส่วนของผู้ที่ดื่มเป็นประจำมีน้อยกว่าร้อยละ30 มีผู้ดื่มลดลงลดได้เพียงร้อยละ1.3 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะทรงตัว มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราต้องรณรงค์ให้คนส่วนมาก เห็นผึงผลกระทบและอันตรายจากภัยน้ำเมา ซึ่งที่ผ่านมา 8 ใน10ของคนไทยเคยได้รับผลกระทบจากผู้ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การก่อคดีอาชญากรรม การคุกคามทางเพศ และในกลุ่มของครอบครัวที่มีผู้ติดเหล้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นอยากขอความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ให้เป็นกระบอกเสียงรณรงค์ เพื่อให้ปัญหานี้ลดลง” นพ.มูฮัมหมัด กล่าว

 

เสวนาครบ 12 ปี พ.ร.บ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

เสวนาครบ 12 ปี พ.ร.บ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์