กางแผนฉุกเฉินสาธารณสุขไทยเทียบ“WHO-จีน"

27 ม.ค. 2563 | 10:57 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศจีนที่ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ให้ชื่อชั่วคราวว่า  “Novel Coronavirus” หรือ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะ ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมองค์การอนามัยโลก มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ประกาศภาวะฉุกเฉินในจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงจึงยังไม่มีประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”

               

หากย้อนกลับไป “องค์การอนามัยโลก” เคยประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะสุขระหว่างประเทศ” มาแล้ว ดังนี้

 

ปี 2545-2546 การแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส (SARS) เริ่มแพร่ระบาดในมณฑลกวางตุ้น ก่อนระบาดใน 27 ประเทศทั่วโลก ระบาดมากที่สุดในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา สิงคโปร์ มีผู้ติดเชื้อประมาณ 8,096 ราย เสียชีวิต 774 ราย

 

ปี 2552 การแพร่ระบาดของ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) หรือ ไข้หวัดสุกร (Swine Flu) เริ่มแพร่ระบาดในเมรารูซ ประเทศเม็กซิโก พบผู้ติดเชื้อกว่า 130 ประเทศ ระบาดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อินเดีย และจีน มีผู้ติดเชื้อหลายล้านราย เสียชีวิต 1.5-5.7 แสนราย

               

ปี 2557 เกิดการแพร่ระบาดของ ไวรัสโปลิโอโดย WHO ประกาศให้ทุกประเทศช่วยกันกวาดล้างให้โรคนนี้หมดไปตั้งแต่ปี 2531 โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ อัฟกานิสถาน และปากีสถาน มีรายงานผู้ติดเชื้อปี 2562 จำนวน 422 ราย   

               

ปี 2557 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ในแอฟริกา พบผู้ติดเชื้อกว่า 10 ประเทศ ระบาดมากที่สุดใน เซียร์ราลีโอน โลบีเรีย และกินี มีผู้ติดเชื้อกว่า 28,000 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตปี 2559 จำนวน 11,000 ราย

               

ปี 2559 การแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ในบราซิล ลาตินอเมริกา พบผู้ติดเชื้อกว่า 90 ประเทศมีผู้ติดเชื้อเฉพาะในทวีปอเมริกากว่า 4 ล้านราย มีผู้เสียชีวิต จำนวนมาก

               

ปี 2561-2563  เกิดการระบาดของไวรัสอีโบรารอบใหม่ในคองโก มีผู้ติดเชื้อ 3,905 ราย ผู้เสียชีวิต 2,241 ราย

               

ปี 2563 การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ขณะนี้ (27 มกราคม 2563) อยู่ระหว่างการพิจารณาของ WHO ว่า จะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หรือไม่  

จีน ประกาศภาวะฉุกเฉินสูงสุด

ขณะที่ “การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของจีน” นั้นแบ่งออกเป็น 4 ระดับ โดยระดับที่ 1 จะเป็นระดับที่สูงที่สุด ระดับ 4 เป็นระดับที่ต่ำที่สุด โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2563 มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ภูมิภาคระดับมณฑล 30 แห่งของจีน ยกเว้นเขตปกครองตนเองทิเบต ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับสูงสุดเพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

 

รายงานล่าสุด (27 มกราคม) จีนพบผู้ติดเชื้อขั้นรุนแรง 430 คน ติดเชื้อ 3,400 คน เสียชีวิต 80 ราย และกับตัวเฝ้าระวังพิเศษ 6,000 คน

 

ไทย อยู่ภาวะฉุกเฉินระดับ 3

สำหรับประเทศไทยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ สาธารณภัย หมายถึง อัคคีภัย วาตภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุหรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของประชาชน หรือความเสียหาย แก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ และให้หมายความถือภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย

               

ขณะที่แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาตินั้น กำหนดให้ “ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์” เป็น 1 ใน 14 ประเภทด้านสาธารณภัย โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แบ่งความรุนแรงของสาธารภัยไว้ 4 ระดับ ดังนี้ 

 

“ภาวะฉุกเฉินระดับ 1” เป็นสถานการณ์ที่ไม่เกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม โดยเหตุการณ์ฉุกเฉินอยู่ในขอบเขตที่จำกัด สามารถควบคุมได้เองในทรัพยากรที่มีอยู่

 

“ภาวะฉุกเฉินระดับ 2” เป็นสถานการณ์ที่มีอันตรายและกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการอพยพ ประชาชนออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุ มีการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆนอกเหนือจากทรัพยากรที่มีอยู่

 

“ภาวะฉุกเฉินระดับ 3” เป็นสถานการณ์ร้ายแรงส่งผลต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจาก พื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการ

 

 “ภาวะฉุกเฉินระดับ 4” เป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบร้ายแรงอย่างยิ่งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และขวัญกำลังใจของประชาชนทั้งประเทศ หรือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (รมว.มหาดไทย หรือ ผู้ได้รับมอบหมาย) ไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์และระงับภัยได้ นายกรัฐนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายจะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์เข้าควบคุมสถานการณ์นั้น

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม  2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ของไทย “ภาวะฉุกเฉินระดับ 3”  เพื่อรับมือไวรัสโคโรนา

 

ขณะที่มีรายงานล่าสุด (26 มกราคม) ว่า ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ในลำดับที่ 2 ของโลก มีผู้ป่วยติดเชื้อ 8 คน โดย 5 คนหายป่วยกลับบ้านได้แล้ว ขณะที่อีก 3 รายนั้นยังอยู่ในห้องแยกโรคในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข