เฟดอัดฉีดสภาพคล่องจัดหนักส่งท้ายปี ยันยังไม่ใช่ QE4

25 ธ.ค. 2562 | 08:49 น.

 

ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้นในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repo Market) ของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นมากสะท้อนปัญหาสภาพคล่องตึงตัว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องออกมาประกาศมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องมหาศาลเข้าสู่ระบบ โดยเฟดมีแผนพิมพ์เงินออกมาซื้อตั๋วเงินคลัง (T-bills) 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน เริ่มตั้งแต่รอบ 15 ต.ค. - 15 พ.ย. จนถึงไตรมาส 2/2020 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ ยังมีแผนจะอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดซื้อคืนพันธบัตรอย่างน้อยวันละ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีสภาพคล่องของเงินสำรองเพียงพอในระบบธนาคาร

 

มาตรการดังกล่าวทำให้ขนาดงบดุลของเฟดขยายทะลุ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขงบดุลของเฟดขยับสูงขึ้นหลังจากที่เฟดเริ่มใช้นโยบายปรับงบดุลของธนาคารกลางให้เข้าสู่ภาวะปกติมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นการปรับลดลง โดยที่ก่อนหน้านี้เฟดได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาก่อน ซึ่งมีทั้งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจนตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities: MBS) จำนวนมาก ผ่านมาตรการคิวอีที่แบ่งเป็น 3 ระลอก ระหว่างปี 2551-2556  จนทำให้ขนาดงบดุลของเฟดขยายใหญ่ถึง 4 เท่า โดยเพิ่มขึ้นจาก 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 มาอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

อย่างไรก็ตามมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องล่าสุดนี้  นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดย้ำว่า “ไม่ใช่มาตรการคิวอี ขอให้นักลงทุนอย่าสับสน”  โดยอธิบายว่า การซื้อตั๋วเงินคลังซึ่งเป็นตราสารระยะสั้น นั้นแทบไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงแตกต่างจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ คิวอี ที่เฟดเคยใช้กอบกู้เศรษฐกิจภายหลังวิกฤตการเงินโลกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน โดยคิวอีนั้นถูกออกแบบมาเพื่อกดดอกเบี้ยระยะยาวกว่านี้ และมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมและการลงทุน
 

แต่ไม่ว่าเฟดจะเรียกมาตรการนี้ว่าอะไรก็ตาม การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้ตลาดวอลล์สตรีทขานรับในเชิงบวก ดัชนีหลักๆทะยานสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่ขนาดงบดุลของเฟดขยายขึ้นเกินระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์อีกครั้ง  ทำให้นักลงทุนอดที่จะนึกย้อนเปรียบเทียบกับมาตรการคิวอี 3 ชุดใหญ่ ที่เฟดเคยนำมาใช้ในช่วงรับมือกับวิกฤตการเงินไม่ได้

เฟดอัดฉีดสภาพคล่องจัดหนักส่งท้ายปี ยันยังไม่ใช่ QE4

จากผลการสำรวจของ บริษัทวิจัย อาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ต เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มากกว่าครึ่ง (53%) ของนักลงทุนสถาบันเชื่อว่า เฟดกำลังใช้มาตรการคิวอีอยู่ ขณะที่ 19% คิดว่า เฟดไม่ได้ใช้มาตรการคิวอี ความคิดเห็นของนักลงทุนมีผลต่อตลาดหุ้น และการที่นักลงทุนจำนวนมากเชื่อว่า เฟดกำลังทำมาตรการคิวอีด้วยการขยายขนาดงบดุลและพิมพ์เงินมหาศาลออกมาอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่านั่นจะไม่ใช่เป้าหมายของการนำมาตรการคิวอีมาใช้ก็ตาม  

 

ลอรี คาลวาสินา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์หลักทรัพย์ของอาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ต อธิบายว่า การที่ตลาดหุ้นขานรับในเชิงบวกเป็นเพราะการที่เฟดนำมาตรการคิวอีมาใช้เมื่อครั้งอดีต เกิดขึ้นในยามที่ตลาดกำลังเผชิญภาวะความเสี่ยง เมื่อมาตรการที่รัฐนำมาใช้ทำให้ความเสี่ยงและความผันผวนต่างๆหายไป มูลค่าตลาดก็ดีดตัวสูงขึ้น “ถ้า 53% ของนักลงทุนที่ตอบคำถามการสำรวจ คิดถูก (เกี่ยวกับการใช้มาตรการคิวอีของเฟด) ราคาหุ้นก็จะทะยานขึ้น เพราะในอดีตนั้น มูลค่าตลาดขยับสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อตอนที่เฟดนำมาตรการคิวอีมาใช้”  

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลอดปีนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯถือว่ามีการขยายตัวในระดับปานกลาง (moderate) โดยดัชนีเอสแอนด์พีอาจขยับขึ้นมาที่ระดับ 3,350 จุดในช่วงสิ้นปี หรือสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันเพียง 5% เท่านั้น แต่การนำมาตรการคิวอีมาใช้จะทำให้สถานการณ์ในตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีแรงขับเคลื่อนมากขึ้นและราคาหุ้นก็จะขยับสูงขึ้นมาก มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่ดัชนีหลักๆพุ่งขึ้นสูงมาก เช่น ดัชนีเอสแอนด์พี 500 นับตั้งแต่สิ้นเดือนส.ค.มาจนถึงขณะนี้ ขยับขึ้นแล้ว 9% ขณะที่ดัชนีแนสแดค พุ่งขึ้น 11% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่หนุนทิศทางเชิงบวกดังกล่าวคือ บรรยากาศของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่คลี่คลายลง และความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯก็ลดน้อยลงด้วย แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็เชื่อว่า อีกปัจจัยสำคัญที่หนุนการพุ่งขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ ก็คือการที่เฟดกำลังอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องนั่นเอง   

 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟดซื้อตั๋วเงินคลังอีก 7,500 ล้านดอลลาร์ผ่านการประมูลที่ผู้ซื้อให้ความสนใจอย่างมาก และเฟดเองก็ได้รับการเสนอซื้อต่อจากบรรดาสถาบันการเงินในราคาที่สูงขึ้นเกือบ 5 เท่า (ประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์)   

 

แม้ประธานเฟดจะปฏิเสธว่า สิ่งที่เฟดกำลังทำอยู่นี้ไม่ใช่มาตรการคิวอีเพราะเป็นการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น ที่จะไม่มีผลต่ออุปสงค์และอุปทานของหลักทรัพย์และตราสารระยะยาว ทั้งยังไม่มีผลต่อสถานการณ์ทางการเงินในภาพรวม ซึ่งผิดกับเมื่อครั้งที่เฟดใช้มาตรการคิวอีในช่วงรับมือวิกฤตการเงินเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว แต่นักลงทุนก็ไม่เห็นถึงความแตกต่างมากนัก เพราะถึงอย่างไรสิ่งที่เฟดทำในอดีตและกำลังทำอยู่ในเวลานี้ก็คือ การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ ซึ่งเมื่อเกิดสภาวะเช่นนี้นักลงทุนก็พร้อมที่จะเข้าลงทุนในตลาด

 

การสำรวจของธนาคารเครดิตสวิสที่จัดทำเมื่อเร็วๆนี้ ยังชี้ว่า การนำมาตรการคิวอีมาใช้เป็นครั้งที่ 4 หรือ QE4 ของธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ หรือถ้าจะชี้ชัดไปกว่านั้น คือเชื่อว่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี ซึ่งก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้ว เป้าหมายหลักๆก็เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องตึงตัวที่ทำให้ดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้นระหว่างธนาคารพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากเครื่องมืออื่นๆที่จะนำมาใช้กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นแทบจะไม่มีอะไรเหลือแล้ว โดยเฉพาะมาตรการด้านดอกเบี้ย โดยในปีนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศซึ่งรวมทั้งเฟด ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หันมาใช้มาตรการปรับลดหรือตรึงดอกเบี้ยในระดับต่ำมากอยู่แล้ว ทำให้ต้องหันมาใช้นโยบายคิวอีกันมากขึ้น

 

ย้อนไปในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นายพาวเวล ประธานเฟด เคยออกมาให้ความเห็นว่า เฟดอาจจะนำเครื่องมือที่เคยใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งได้แก่ การกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการคิวอี "เรารู้ว่าเครื่องมือเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งเราหวังว่าคงจะนำมาใช้ไม่บ่อยนัก"

 

ในส่วนของนักลงทุนนั้น การที่เฟดหันมาใช้มาตรการคิวอีอีกครั้ง  มีโอกาสจะทำให้ปริมาณเงินในโลกเพิ่มขึ้น และจะเคลื่อนย้ายสภาพคล่องในระบบไหลเข้ามาสู่ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้นซึ่งรวมถึงภูมิภาคเอเชียด้วย