โยกฝากประจำ  5 ล้านล้าน  หนีดอกเบี้ยขาลง

11 พ.ย. 2562 | 09:00 น.

จับตาเงินฝากประจำ 5 ล้านล้านบาท ทยอยครบดีลช่วง 1-1.5 ปี วิ่งซบตราสารทางเลือกแทนเงินฝาก เหตุดอกเบี้ยต่ำ  หวั่นวัยเกษียณ Search for Yield เหตุต้องรักษาระดับรายได้ ออมสินลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำต้นปีหน้า พร้อมแนะลูกค้าโยกฝากระยะยาว ล็อกผลตอบแทนก่อนดอกเบี้ยลด       

มติ 5 ต่อ 2 เสียงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.5% ต่อปีเหลือ 1.25% ต่อปี ซึ่่งเป็นระดับตํ่าสุดในรอบ 10 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ปี 2552 หลังเกิดวิกฤติซัพไพรม์ในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 ของปี จึงค่อนข้างชัดเจนว่า แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกขณะนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็นขาลง ซึ่งจะส่งผลดีและผลเสียต่อสินทรัพย์การลงทุนที่แตกต่างกัน

การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ของกนง.เริ่มมีประสิทธิผล โดยจะเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยเงิินกู้ลงทันที 0.25% ซึ่งนอกจากจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) แล้วยังมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) อีกด้วย หลังจากการลดดอกเบี้ยในรอบแรกๆ จะเห็นเพียงการลดดอกเบี้ย MRR เท่านั้น แต่ที่สำคัญรอบนี้เริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยเงินฝากอีกด้วย โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% ธนาคารกสิกรไทย ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สำหรับลูกค้านิติบุคคลลง 0.07%-0.25% ขณะที่ธนาคาร ออมสิน เองประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.125%  โดยจะให้มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2563 ทำให้ตลาดประเมินกันว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) มีแนวโน้มปรับลดลงตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะผู้มีเงินฝากประจำจะได้รับผลกระทบในระยะข้างหน้า

โยกฝากประจำ  5 ล้านล้าน  หนีดอกเบี้ยขาลง

ชาติชาย พยุหนาวีชัย

ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มองว่า อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้อีก ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจไทยแย่ลงมาก โดยในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากมีโอกาสไม่มากที่จะเห็นการปรับเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ผู้มีเงินฝากประจำอาจต้องวิ่งหาทางเลือกอื่นแทนการฝากเงิน เช่น ลงทุนในตราสารอายุ 2 ปี หรือ 3 ปี แต่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจก่อนจะเลือกลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะเงินฝากประจำที่จะทยอยครบกำหนดในระยะ 1 ปี-1 ปีครึ่ง มีประมาณ 5 ล้านล้านบาทในระบบ

เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แบงก์แข่งกันออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 18 เดือน จ่ายดอกเบี้ยที่ 1.8-1.9% แต่หลังจากนี้ อาจจะเห็นบัญชีเงินฝากประจำ 14-16 เดือน จ่ายดอกเบี้ยที่ 1.5-1.6% ต่อปี และแนวโน้มที่ปีหน้าจะเห็นการแข่งกันระดมเงินฝากอาจมีไม่มาก เนื่องจากสภาพคล่องยังคงเหลือ และสถานการณ์หนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ในระดับสูง ทำให้แบงก์ส่วนใหญ่ต่างชะลอการปล่อยสินเชื่อในปีหน้า

 

ขณะที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า หลังจาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จะเห็นว่าฟากของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยลง ทั้งเงินฝากและเงินกู้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เองก็มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน ดังนั้น ผู้มีเงินฝากจะต้องล็อกเงินฝากระยะยาวไว้ เพื่อจะได้รับประโยชน์ในช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ดังนั้นประชาชนสามารถนำเงินมาฝากกับธนาคารออมสินได้ ที่ช่วงนี้ยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง จนกว่าจะถึงวันที่ 1 มกราคม ปี 2563

โยกฝากประจำ  5 ล้านล้าน  หนีดอกเบี้ยขาลง

เทรนดอกเบี้ยขาลงย่อมกระทบลูกค้าเงินฝากประจำ จึงเป็นนาทีทอง หากต้องการดอกเบี้ยสูงอีกระยะกว่าดอกเบี้ยจะลง จึงแนะนำให้ล็อกเงินฝากระยะยาว 1-2 ปีไว้ก่อน

สำหรับในแง่ของลูกค้าธนาคารออมสินอาจไม่เดือดร้อนมาก เพราะส่วนหนึ่งเป็นเงินออมในสลากออมสิน สัดส่วน 50% อายุ 3 ปี ส่วนออมทรัพย์มี 20% ที่เหลือเป็นเงินฝากระยะยาวประมาณ 30% ของพอร์ตเงินฝากรวม 2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท ที่ทยอยครบระหว่างปีเฉลี่ย 60,000-1 แสนล้านบาทต่อเดือนรวมสลากออมสินด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แต่ในส่วนของธนาคารยังคงมีต้นทุนในการรับเงินฝาก เฉพาะค่าธรรมเนียม 0.47% ของเงินฝากโดยนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 0.46% และนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากอีก 0.1% ซึ่งหากธนาคารนำเงินไปฝากไว้กับธปท.ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ต่อปี ซึ่งจะขาดทุน ดังนั้นบางธนาคารจึงไม่รับเงินฝากหรือบางธนาคารจำเป็นลดอัตราดอกเบี้ยลง

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่ากว่าอดีต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบค่อนข้างแรงสำหรับผู้ที่ต้องการเงินออมหรือผู้ที่ต้องการรักษาระดับรายได้ โดยเฉพาะวัยเกษียณ ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับตํ่า สถาบันการเงินจำเป็นจะต้องให้ความรู้ก่อนการลงทุน โดยเฉพาะอาจจะนำไปสู่การลงทุนในตราสารเอกชนหรือหุ้นกู้เอกชน ซึ่งธปท.มีความเป็นห่วงในเรื่อง Search For Yield มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของธนาคารพาณิชย์เองยังต้องบริหารสภาพคล่องตามมาตรฐานบัญชี IFRS9 ด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ฝากเงินที่จะมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายด้วย

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน

2562 

                     โยกฝากประจำ  5 ล้านล้าน  หนีดอกเบี้ยขาลง