ส่งออกไทย 9 เดือน ติดลบ 2.1%

21 ต.ค. 2562 | 04:18 น.

ส่งออกไทย 9 เดือนปี 62 ยังติดลบ 2.1% แต่แนวโน้มดีขึ้น ตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน(5) กลับมาขยายตัว เร่งดันส่งออกสินค้าเกษตรทั้งข้าว มัน ยาง ช่วยดันยอด 3 เดือนสุดท้าย เผยฟื้นตลาดข้าวอิรักคืบ คาดเอ็มโอยูได้ในเร็ว ๆ นี้

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่าส่งออก 20,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง หรือติดลบ 1.39%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกภาพรวมช่วง 9 เดือนแรกปี 2562(ม.ค.-ก.ย.)มีมูลค่าทั้งสิ้น 186,571ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 2.11% ปัจจัยหลักจากสถานการณ์การค้าโลกที่ยังผันผวน ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบกับความสามารถในการแข่งขัน และความกังวลเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ส่วนการนำเข้าเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 19,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 4.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าช่วง 9 เดือนแรก มีมูลค่ารวม 179,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 3.68% ขณะที่ไทยยังเกิดดุลการค้าเดือนกันยายนมูลค่า 1,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และช่วง 9 แรกยังเกินดุลการค้า 7,381ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นางสาวพิมพ์ชนก  วอนขอพรผู้ อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 20,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว1.4% เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงและภาพรวมการส่งออกทั้งด้านสินค้าและตลาดปรับตัวดีขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า กลับมาขยายตัว และสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งใหม่ ๆ หลายรายการมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน

ส่งออกไทย 9 เดือน ติดลบ 2.1%

ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังขยายตัวได้ดีทั้งด้านปริมาณและราคา นอกจากนี้ในรายตลาด การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อาเซียน (5) และลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัวเป็นบวกรวม 3 ไตรมาส ปี 2562 การส่งออกหดตัว 2.1%

 

อย่างไรก็ดี อุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนนี้ ทั้งนี้ เหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบียและความต้องการใช้น้ำมันในช่วงปลายปี อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับในรายละเอียดของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนกันยายน 2562 หดตัวที่ 3.1% (YoY)

สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 36.3% (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จี มาเลเซีย ลาว และไต้หวัน) เครื่องดื่ม ขยายตัว 14.6% (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 12.1% (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน และมาเลเซีย) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 7.7% (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย)

สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัว 32.2% (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ เบนิน โมซัมบิก แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และแคเมอรูน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 35.2% (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) ยางพารา หดตัว 15.4% (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 10.5%(หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และแคนาดา) รวม  3 ไตรมาส ปี 2562

ส่งออกไทย 9 เดือน ติดลบ 2.1%

 

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวที่ 0.2% (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัว 110.6% (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 31.5% (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น กัมพูชา และเวียดนาม) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวที่15.9% (ขยายตัวระดับสูงในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ 15.1% (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ 5.4% (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และเม็กซิโก) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 0.7%(ขยายตัวระดับสูงในตลาดอินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส)

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ 16.2%(หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และมาเลเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 12.3% (หดตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดเม็กซิโก และสิงคโปร์) รวม  3 ไตรมาส ปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ 1.3%

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดหลักในเดือนกันยายน 2562 กลับมาขยายตัว 1.3% โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขยายตัว 7.8% และ 2.4% ตามลำดับ แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัว 8.2% ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัว 5.1% เนื่องจากการส่งออกไป CLMV และเอเชียใต้หดตัว 15.3% และ 12.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีนและอาเซียน(5) กลับมาขยายตัว 6.1% และ 0.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรองหดตัว 4.1% เนื่องจากการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CIS ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางหดตัว 17.2%, 3.7% และ 2.4%  ตามลำดับ

ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 7.8% ซึ่งเป็นการขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่องติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่  3 ไตรมาส ปี 2562 ขยายตัว 14.1%

ส่งออกไทย 9 เดือน ติดลบ 2.1%

ตลาดญี่ปุ่น กลับมาขยายตัว 2.4% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ โทรทัศน์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่  3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัว 0.4%

ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัว 8.2% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ  อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องยนต์สันดาปฯ และแผงวงจรไฟฟ้า ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไก่แปรรูป และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่  3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัว 6.6%

ตลาดจีน กลับมาขยายตัว 6.1% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งน้ำมันดิบ เครื่องจักรกลฯ และน้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่  3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัว 5.6%

ตลาดอาเซียน(5) กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ 0.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องวิดีโอและส่วนประกอบฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ขณะที่  3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัว 9.6%

ตลาด CLMV หดตัว 15.3% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง  เครื่องจักรกลฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ ขณะที่  3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัว 6.4%

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562

เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนอันเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรปเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการอุดหนุนแอร์บัส และสถานการณ์เบร็กซิทที่ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ผู้ส่งออกควรลดผลกระทบความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการทำประกันความเสี่ยงหรืออาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว

ในระยะ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน เพิ่มเติมจากสินค้าส่งออกหลักดั้งเดิม อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินค้าศักยภาพใหม่การรักษาฐานลูกค้าเดิมยังเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดสินค้าส่งออกหลักในตลาดดั้งเดิม

ส่งออกไทย 9 เดือน ติดลบ 2.1%

“ช่วงที่เหลือของปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าเร่งขยายการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญและอุตสาหกรรมที่เติบโตดี โดยสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจภาคเอกชนในตลาดศักยภาพ อาทิ สินค้ามันสำปะหลังและมะพร้าวน้ำหอม ในตลาดจีน ไม้ ยางพารา และเฟอร์นิเจอร์ ในตลาดอินเดีย นอกจากนี้ มีแผนเดินหน้าเปิดตลาดใหม่โดยมีกำหนดการเดินทางไป ตุรกี ผลักดันการส่งออกยาง ขณะที่เริ่มเจรจาฟื้นฟูการส่งออกข้าวไทยในอิรัก ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากและคาดว่าจะสามารถทำ MOU ระหว่างกันได้ในไม่ช้า” 

ขณะที่ในภาวะที่ทุกประเทศผู้ส่งออกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางการค้า เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าให้การเจรจาอาร์เซ็ปสำเร็จภายในสิ้นปี 2562 และเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เช่น FTA  ไทย-ตุรกี ตั้งเป้าจะสรุปผลได้ในต้นปี 2563 และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป เป็นต้น