ย้อนรอย40ปี"บัณฑูร ล่ำซำ" ใต้ปีก"กสิกรไทย"

12 ต.ค. 2562 | 06:00 น.

 

"บัณฑูร ล่ำซำ" หรือ"คุณปั้น" วัย 66 ปี เตรียมก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยเพื่อส่งไม้ต่อให้"ขัตติยา อินทรวิชัย"ทำหน้าที่ซีอีโอแทน นับตั้งแต่ถัดจากวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2563 โดยที่"บัณฑูร"ยังคงทำหน้าที่ประธานกรรมการ ประเภทที่ไม่เป็นผู้บริหารและเป็นที่ปรึกษาแก่คณะจัดการกสิกรไทยตามที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคาร(บอร์ด)

"บัณฑูร"เป็นทายาทธุรกิจ ตระกูลล่ำซำ เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2496 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ก่อนสำเร็จปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา และสำเร็จปริญญาโท บริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 

เขาเริ่มทำงานในฝ่ายกิจการต่างประเทศธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี 2522   ก่อนก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการในปี 2535 และเป็นกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี2545 จนถึงปัจจุบัน 

ถึงตอนนี้นับเป็นเวลา 40 ปีเต็มที่ "บัณฑูร" ได้เข้ามาทำงานในธนาคารกสิกรไทย 

ย้อนรอย40ปี"บัณฑูร ล่ำซำ" ใต้ปีก"กสิกรไทย"

 

สิ่งที่สะท้อนผลงานของ"บัณฑูร"ในวันนี้ นอกจากรักษาธุรกิจของครอบครัวให้อยู่รอด มีสินทรัพย์ขยับเพิ่มเป็นกว่า2.65ล้านล้านบาทและสามารถฉลองครบรอบปีที่ 74 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  

หากย้อนประวัติธนาคารกสิกรไทยภายใต้การบริหารจัดการของ"บัณฑูร" ซึ่งเป็นต้นแบบและมีวิสัยทัศน์เปิดหน้าประวัติศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย

"บัณฑูร"ได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ การบริหารธุรกิจธนาคารแบบใหม่โดยจัดตั้งหน่วย ยุทธศาสตร์และนวัตกรรมทำการอีเอ็นจิเนียริ่ง ธนาคารกสิกรไทย ในปี 2537 รื้อกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ ลดขั้นลดเวลาให้บริการและเพิ่มผลผลิตต่อชิ้นงานที่สูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำ ในระหว่างปี2526-2539 ที่รัฐบาลไทยได้เปิดเสรีทางการเงิน

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการหาวิธีเอาตัวรอดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์

กระทั่งปี 2540 ด้วยฝีมือและวิสัยทัศน์ของ"บัณฑูร" จึงสามารถฝ่าวิกฤติได้ก่อนหลายธนาคารที่เผชิญวิกฤตระบบการเงินของประเทศ โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่ระดมทุนก้อนใหญ่จากต่างประเทศสำเร็จ

จากนั้นในปี2541 เป็นผู้นำรายแรกของประเทศไทยในการระดมทุน รูปแบบใหม่ ด้วยการเสนอขายหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (SLIPsและCAPs) 

แม้ภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ตระกูลล่ำซำ จะกลายเป็นแต่เพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของธนาคารกสิกรไทย 

แต่การระดมทุนวิธีนี้ นอกจากจะทำให้ไม่เป็นหนี้เสียของรัฐทั้งระบบแล้ว ยังเป็นแนวทางให้ธนาคารแห่งอื่นใช้ระดมทุนในเวลาต่อมา

แม้"บัณฑูร"สามารถนำธนาคารกสิกรไทยฝ่าเมฆฝนเศรษฐกิจในปี2540 และรักษาธุรกิจมาถึงวันนี้ แต่"บัณฑูร"ยังมุ่งมั่นในการนำกสิกรไทยสู่การเป็นธนาคารที่มีความยั่งยืน เห็นได้จากการปูทางสร้างฐานด้วยการสรรหาคณะผู้จัดการและทีมบริหารภายใต้โครงสร้างของ 4กรรมการผู้จัดการ  ประกอบด้วย "ปรีดี  ดาวฉาย-ขัตติยา อินทรวิชัย-พิพิธ เอนกนิธิ-พัชร  สมะลาภา"

ย้อนรอย40ปี"บัณฑูร ล่ำซำ" ใต้ปีก"กสิกรไทย"

 

"บัณฑูร"ถือเป็นนายธนาคารผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ปี 2540 หลังจากเกิดวิกฤติการเงินในประเทศ เขาได้ยกเครื่ององค์กร และนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารงานอยู่เสมอ เพราะเขาชื่อว่า"การแข่งขันในโลกธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลา หากธุรกิจไม่สามารถสร้างนวัตกรรมให้เท่าทันกับตลาดโลกก็ต้องยอมถอยไป"

เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่ความเสี่ยงที่นอกเหนือจากการเก็งกำไรแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการพัฒนาตัวเองไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงจะต้องคิดค้นสินค้าใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุน

ดังนั้น จึงเป็นที่จับตา ว่า ภายหลัง"ขัตติยา"รับไม้ต่อเป็น"ซีอีโอ" ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเดือนเมษายน2563 บอร์ดจะเสนอใครเป็นกรรมการผู้จัดการแทนตำแหน่งที่ว่างลงและจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของธนาคารกสิกรไทยอย่างไรในอนาคตอันใกล้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บัณฑูร" ลา กสิกรไทยดัน"ขัตติยา" นั่งซีอีโอ