SEF ไม่จูงใจ ชั้นกลาง หุ้น20บจ. ได้ประโยชน์

06 ต.ค. 2562 | 10:55 น.

โบรกฯคาดเม็ดเงินเข้ากองทุน SEF ยังเป็นกลุ่มรายได้สูง แม้กลุ่มระดับกลาง-ล่างมีโอกาสซื้อเพิ่มขึ้น คาดเม็ดเงินที่เคยลงทุนใน LTF หาย 3.3 หมื่นล้าน ชี้หุ้นกลุ่ม SETTHSI ได้ประโยชน์สูง

ใกล้จะหมดสิทธิทางภาษีในสิ้นปีนี้แล้ว สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ นำเงินมาลงทุนนอกจากการออมเงินแล้ว ยังใช้เพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ ทำให้ทางสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ได้หาทางชดเชยด้วยการเสนอกระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อทดแทน โดยได้เสนอกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสฯ เปิดเผยว่า คาดคนส่วนใหญ่ที่ซื้อกองทุนเพื่อประหยัดภาษีจะเป็นคนที่มีรายได้สูงเนี่องจากมีสิทธิได้รับสัดส่วนเงินคืนภาษีสูง ส่วนคนมีรายได้ระดับกลางถึงล่าง แม้จะมีโอกาสลงทุนในกองทุน SEF เพิ่มขึ้นจากปกติ แต่ด้วยสัดส่วนการลดหย่อนภาษียังคงอยู่ในระดับตํ่า และเงินออมที่มีจำกัด เชื่อว่าสัดส่วนวงเงินที่เพิ่มขึ้น 15% เป็น 30% ไม่สามารถชดเชยวงเงินลงทุนเพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีที่ลดลงจาก 500,000 บาท เหลือ 250,000 บาทได้ รวมทั้งคาดว่าจะมีเม็ดเงินที่เคยลงทุนใน LTF ในแต่ละปี ลดลงเหลือ 33,300 ล้านบาท จากปัจจุบันมีเม็ดเงินจากผู้ซื้อ LTF เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 66,600 ล้านบาท

SEF ไม่จูงใจ ชั้นกลาง หุ้น20บจ. ได้ประโยชน์

ขณะที่ จากการประเมินผลกระทบหากยกเลิกกองทุน LTF แล้วเปลี่ยนมาเป็นกองทุน SEF ภายใต้สมมติฐานไม่ถูกเงินลงทุนที่ครบกำหนดอายุในปี 2547-2558 ขายในระหว่างนี้ พบว่า ในปี 2563-2564 กลับได้ประโยชน์ เนื่องจากยังมีแรงซื้อ SEF ปี 2563 ช่วยหนุนประมาณ 33,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงไม่มีแรงขายคืนจาก LTF เนื่องจากแรงซื้อ LTF ในปี 2559-2560 ยังไม่ครบกำหนดอายุ ทำให้มูลค่าซื้อสุทธิกองทุนประหยัดภาษีในปี 2563 - 2564 อยู่ที่ 33,000 ล้านบาท สูงกว่ายอดซื้อสุทธิปี 2562 ถึง 12,000 ล้านบาท แต่ในปี 2565 ยังต้องเผชิญแรงขายสุทธิประมาณ 12,000 ล้านบาท และยังมีเม็ดเงินลงทุนที่ครบกำหนดอายุที่ลงทุนช่วงปี 2547-2558 แต่ยังไม่ได้ขายกว่า 180,221 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การนำกองทุน SEF มาแทน LTF ที่มีการปรับนโยบายการลงทุนใหม่ โดยกำหนดให้ลงทุนกลุ่มหุ้นยั่งยืน ที่มีนโยบายการคัดเลือกจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นสัดส่วน 65% และเปิดให้ลงทุนอิสระ คิดเป็นสัดส่วน 35% อาจทำให้เกิดการโยกเงินลงทุนได้ เพราะจากเดิม จากกองทุน LTFสามารถถือหุ้นไทยในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใดก็ได้ที่มีกว่า 780 บริษัททั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ และดัชนีเอ็มเอไอหันมาลงทุนในดัชนีหุ้นยั่งยืนแทน โดยมีเพียง 53 บริษัทและกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 8 บริษัท ที่ได้รับอานิสงส์ของการปรับสัดส่วนการลงทุนครั้งนี้

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสฯ ประเมินว่า จะมีหุ้นทั้ง 20 บริษัทน่าจะได้ประโยชน์ถูกกองทุนเพิ่มนํ้าหนักในการลงทุนมากที่สุด หากนำกองทุน SEF มาแทน LTF

ประกอบด้วย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF), บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) , บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) , บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC),

บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) , บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) , บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF),กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) และ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) มีโอกาสที่กองทุนจะเพิ่มนํ้าหนักการลงทุนมากสุดในระยะถัดไป ส่วนอีก 4 หุ้น เป็นหุ้นอยู่นอกตาสายของกองทุน แต่ถูกนำมาคำนวณในดัชนี SETTHSI คือ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG), บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD), บมจ.ไทยคม (THCOM) และบมจ.พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง (PM)

ด้านบล.กสิกรไทยฯ ระบุว่า คาดว่ากระแสเงินไหลเข้ารวมจากกองทุน SEF จะอยู่ที่ 29,500 ล้านบาท เทียบกับกองทุน LTF ที่ 34,000 ล้านบาท เพราะกองทุน SEF เปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ชำระภาษีที่มีรายได้สูงน้อยลง ทั้งนี้ มีหุ้นที่อยู่ใน SETTHSI ที่ได้ประโยชน์ คือ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC), บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX), บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH), บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA), บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ หุ้นที่อยู่ใน SETTHSI แต่ไม่ได้อยู่ใน SET100 และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีมูลค่าตลาดและสภาพคล่องสูง จะกลายเป็นเป้าหมายในการเข้าซื้อของกลุ่ม SEF

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,511 วันที่ 6-9 ตุลาคม 2562 

                   SEF ไม่จูงใจ ชั้นกลาง หุ้น20บจ. ได้ประโยชน์