เปิดใช้แล้วรถไฟฟ้า 142 กิโล ดัมพ์ค่าตั๋ว ดึงคนเข้าระบบ

05 ต.ค. 2562 | 04:25 น.

อย่างที่ทราบกันดีในเรื่องการคมนาคมโดยเฉพาะในกรุงเทพ มหานคร จากข้อมูลของ INRIX Global Traffic Scorecard ได้เผยผลสำรวจออกมาว่า กรุงเทพฯ ครองอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียนสำหรับการเป็นเมืองรถติด หรือคิดเป็น 64 ชั่วโมงต่อปีในการเสียเวลาบนท้องถนน และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ตอบโจทย์การเดินทางภายในเมืองทำให้ทุกคนแห่กันซื้อรถและนำออกมาใช้เพิ่มขึ้นในทุกวัน หรือประมาณ 9.8 ล้านคัน โดยเกินพื้นที่ถนนรองรับได้ 4.4 เท่านั้นเอง

ความสำคัญดังกล่าว ทาง ออกที่สมดุลที่สุด คือ การหันมาพัฒนาระบบรางและตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้หันมายกระดับในด้านการขนส่งทาง รางอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้ง กรมการขนส่งทางรางขึ้นมาในปีนี้เพื่อกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานการกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้เป็นมาตรฐาน อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางของประเทศให้สามารถแข่งขันและเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบอื่นและประเทศเพื่อนบ้านได้

14 เส้นทาง 557กม.

ระบบรถไฟฟ้าที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-Map) ระยะ 20 ปี (2553-2572) โดยจะมี 14 เส้นทาง ในระยะทาง 557.56 กม.จาก 351 สถานี และ 56 สถานีเชื่อมต่อ โดยเมื่อแล้วเสร็จจะก้าวสู่การเป็น อันดับ 3 ของโลกในฐานะมหานครระบบราง โดยมีระยะทางที่ให้บริการที่มากกว่า กรุงลอนดอน นครนิวยอร์กและโตเกียวด้วยซํ้า

เปิดใช้แล้วรถไฟฟ้า 142 กิโล ดัมพ์ค่าตั๋ว ดึงคนเข้าระบบ

 

เปิดใช้แล้ว141.8กม.

ทั้งนี้ปี 2562 ที่ผ่านมา มีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ให้บริการไปแล้วรวมระยะทาง 141.8 กม. ได้แก่ สายสีเขียวในช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว สายสีนํ้าเงินในช่วงหัวลำโพง - บางแค (หลักสอง) ที่เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา และในช่วงปลายปีน่าจะมีการเปิดให้บริการของสายสีเขียวช่วงห้าแยกลาดพร้าว-ม.เกษตรศาสตร์ ส่วนในปี 2563 โครงข่ายรถไฟฟ้าที่น่าสนใจ คือ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ รวมทั้งสายสีเขียวช่วง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-คูคต และสายสีทองช่วงกรุงธน-คลองสาน จะทำให้ปีหน้าเรามีระยะทางโครงข่ายรถไฟฟ้ารวมเป็น 170.38 กม.

 

ดึงคนเข้าระบบ

สิ่งที่น่าจับตาคือจำนวนการผู้ใช้บริการจะสอดรับกับการขยายตัวของโครงข่ายหรือไม่ โดยมีปัจจัยหลักมาจาก ค่าโดยสาร โดยล่าสุดวานนี้ในการเปิดรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ซึ่งยังคงราคาเริ่มต้นที่ 16 บาทและสูงสุดไม่เกิน 42 บาท กรณีผู้โดยสารเดินทางข้ามระบบจากสายสีนํ้าเงินไปสายสีม่วง (ตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่-สถานีหลักสอง) จะมีค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาทเช่นเดิมและสูงสุดไม่เกิน 70 บาท ขณะที่รถไฟฟ้า BTS มีค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาทและสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ขณะที่ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และไม่เกิน 45 บาท

 

คนเพิ่ม 10%

อย่างไรก็ตามการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่จะออกมาเป็นรูปธรรม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอแนวทางการลดค่ารถไฟฟ้า 2 รูปแบบ คือ การลดค่ารถไฟฟ้าในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off-peak) และการลดค่าบัตรรายเดือน หรือลดค่าโดยสารลง 5 บาท ซึ่งทางอธิบดีเชื่อมันว่า จะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10% โดยหากผ่านความเห็นชอบจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้อนุมัติการบังคับใช้ทันที

ลองมาดูกันว่า ราคา กับ ระบบราง ที่เดินคู่กันแบบคู่ขนาน จะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาใช้บริการได้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3510 ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2562