จีนคิดใหญ่ : มุ่งสร้าง China’s Century

02 ต.ค. 2562 | 00:25 น.

 

บทความ โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เขียนหนังสือ The Rise of China : จีนคิดใหญ่มองไกล 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,510 วันที่ 3-5 ตุลาคม 2562

 

การเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดของจีนภายใต้การนำของผู้นำสูงสุดที่ชื่อ “สี จิ้นผิงได้กลายเป็นประเด็น Talk of The World ไปทั่วโลก สี จิ้นผิง เริ่มขึ้นมากุมบังเหียนเป็นผู้นำประเทศจีนในเดือนมีนาคม 2013 และได้กลายมาเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง Game Changer ในหลายเรื่องสำคัญระดับโลก

โดยเฉพาะในด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สี จิ้นผิง เดินเกมได้ลุ่มลึกและเฉียบคมกว่าผู้นำจีนก่อนหน้านี้ เห็นได้ชัดจากกรณีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ผู้นำจีนเลือกที่จะใช้กลยุทธ์นิ่งเพื่อชนะ และมีการเปรียบเปรยสงครามการค้าเสมือนเป็นพายุกระหนํ่า โดย สี จิ้นผิง กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนเป็นเสมือนมหาสมุทรที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แอ่งนํ้าเล็กๆ พายุฝนที่พัดกระหนํ่าอาจจะทำลายแอ่งนํ้าได้ แต่ไม่มีวันทำลายมหาสมุทรได้แม้จะต้องเผชิญกับพายุใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน มหาสมุทรก็ยังอยู่ที่เดิมอย่างสงบดังนั้น แม้ว่าจีนจะยอมถอยในหลายเรื่องแต่จีนก็ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ในศึกครั้งนี้จีนไม่มีวันยอมเป็นผู้แพ้

ที่สำคัญ สี จิ้นผิง ได้ริเริ่มยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมีประโยชน์สูงในอนาคตและคนอื่นมองข้ามหรือมองไม่เห็น นั่นคือ ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม หรือที่เรียกว่าข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) และในขณะนี้ BRI ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ใหม่แห่งศตวรรษไปแล้ว

สี จิ้นผิง ยังได้เคยกล่าวว่าข้อมูล Data คือนํ้ามันยุคใหม่เป็นทรัพย์สินมีค่าที่สุดของศตวรรษนี้คำกล่าวของสี จิ้นผิง นี้ได้ถูกนำมาติดโชว์อย่างเด่นชัดอยู่บนผนังทางเข้าศูนย์นวัตกรรมไฮเทค Shanghai Shibei High-tech Park ในเซี่ยงไฮ้ สะท้อนถึงแนวคิดหรือ mindset ของผู้นำสูงสุดของจีนที่ทันยุคสมัยและตระหนักถึงความสำคัญของ Data ในการเป็นตัวช่วยให้มุ่งสู่ China’s Century ศตวรรษแห่งจีนในยุคดิจิทัล

จีนยังได้ประกาศแผนการใหญ่ AI 2030 เพื่อให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกด้านนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี AI ภายในปี 2030 ด้วยตระหนักดีว่าData คืออาหารอันโอชะของ AI ยิ่งป้อน Data เข้าไปมากเท่าใด AI ก็ยิ่งชาญฉลาดมากขึ้นนั่นเอง

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ลํ้าหน้าเช่นนี้ จีนจึงรู้จักใช้ประโยชน์จาก Data ขุมทรัพย์ในศตวรรษที่ 21 อย่างชาญฉลาด และในขณะนี้มีการกล่าวถึงจุดแข็งหรือแต้มต่อของจีนในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำความลํ้าหน้าของโลกยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งจากการเป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยประชากรเน็ตจีนที่มีมากกว่า 800 ล้านคน (แซงหน้าสหรัฐฯ) ทำให้จีนมีมวลข้อมูล Big Data จำนวนมหาศาลผ่านการทำธุรกรรมออนไลน์ และการเป็นสังคมไร้เงินสดCashless Society อันดับ 1 ของโลก เนื่องจากคนจีนส่วนใหญ่หันมาใช้การชำระเงินออนไลน์ผ่านกระเป๋า Mobile Wallet เช่น ชำระผ่าน Alipay ของ Alibaba หรือ WeChat Pay ของ Tencent นอกจากจะทำให้จีนกลายเป็นตลาดการชำระเงินผ่านมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้นำด้านบริการธุรกรรมการเงินในยุคโลกดิจิทัลแล้ว ยังทำให้จีนมีฐานข้อมูล Big Data มากมายมหาศาล


 

 

นี่คือ แต้มต่อที่ทำให้จีนเหนือกว่าสหรัฐฯ ด้วยพลังของมวลข้อมูล Data ปริมาณมหาศาล ที่สำคัญยังมีปัจจัยเอื้อจากการที่คนจีนไม่หวง Data คนจีนไม่หวงข้อมูลและไม่กังวลในเรื่อง Data Privacy เมื่อเทียบกับฝรั่งชาติตะวันตก

 

จีนคิดใหญ่ : มุ่งสร้าง China’s Century

 

จีนคิดใหญ่มองไกล ด้วยวิสัยทัศน์ชัดเจนในการมุ่งสู่การเป็นชาตินวัตกรรม และให้ความสำคัญอันดับต้นกับการทุ่มลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากจีนใช้งบประมาณเพื่อการลงทุน R&D เป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 2.11 ของจีดีพีประเทศจีน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 15.6 ของค่าใช้จ่าย R&D ทั่วโลก ซึ่งเป็นเงินงบประมาณก้อนมหาศาล และยังมีแผนที่จะขยายงบประมาณเพื่อ R&D เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 ของจีดีพีประเทศจีน ภายในปี 2020

China’s Century ศตวรรษแห่งจีนจะเป็นจริงหรือไม่

การเติบใหญ่ของจีนด้วยความลํ้าหน้าทางเทคโนโลยีคงยากจะหยุดยั้ง บริษัทเทคโนโลยีจีนกำลังจะครองโลก และมีการส่งออกทั้งเทคโนโลยีจีน และส่งออก Platform จีนไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียังได้ยอมรับว่า การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีของจีนอย่างต่อเนื่องและราคาเทคโนโลยีจีนที่ถูกกว่าหลายประเทศทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนสามารถเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นเดิมๆ ได้ไม่ยาก ในขณะนี้โลกทั้งใบจึงกำลังเฝ้ามองบทบาทและอิทธิพลของจีนในยุคดิจิทัล

มีการตั้งข้อสังเกตว่าโลกาภิวัตน์ลายมังกรกำลังก่อกำเนิดจากคำกล่าวของดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตและผู้เขียนหนังสือFuturation เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคตโดยได้วิเคราะห์อนาคตบทบาทจีนในระดับโลกและยุทธศาสตร์ BRI ได้อย่างน่าสนใจว่าเส้นทางสายไหมดิจิทัล ถนนที่ปูด้วย Data นำโดยยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของจีนอย่าง Tencent และ Alibaba ที่ออกไปลงทุนสร้างพันธมิตรในบริษัทต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เส้นทางสายไหมดิจิทัลนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินคาด และจะเปลี่ยนภาคเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนอย่างมหาศาล เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลโตอย่างก้าวกระโดด

 

จากยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม BRI ที่ริเริ่มในปี 2013 สามารถพัฒนามาเป็นเส้นทางสายไหมดิจิทัล Digital Silk Road ในวันนี้ สะท้อนถึงความพยายามของจีนที่จะมุ่งสู่การเป็นชาตินวัตกรรมชั้นนำของโลกอย่างชัดเจน

เนื้อหาของบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ The Rise of China จีนคิดใหญ่มองไกลที่ดิฉันตั้งใจเขียนเพื่อถอดรหัสและค้นหาคำตอบว่า จีนคิดการใหญ่อะไร ความคิดสี จิ้นผิง เป็นอย่างไร จีนฝันอะไร และ สี จิ้นผิง คิดใหญ่จะฟื้นฟูชาติ” (ภาษาจีนกลางเรียกว่า ฟู่ซิง) เพื่ออะไร จีนจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกได้จริงหรือไม่ ทำไมสี จิ้นผิง ต้องปลุกฟื้นคืนชีพเส้นทางสายไหม New Silk Road ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI คืออะไร พร้อมกับร้อยเรียงนำเสนอให้เห็น Chronology ลำดับเหตุการณ์และพัฒนาการของยุทธศาสตร์ BRI ตั้งแต่ปี 2013 จนกลายมาเป็นเส้นทางสายไหมดิจิทัล และนำข้อมูลจากการลุยเดินทางสำรวจ Iron Silk Road เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยและรถไฟจีนไปถึงยุโรปมาตีแผ่ข้อเท็จจริงแบบชัดๆ ในหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ

ศตวรรษแห่งจีน China’s Century มาแน่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม จึงขอฝากโจทย์ชวนคิดว่า ไทยจะสามารถบริหารจัดการเพื่อพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสจีนนี้ได้หรือไม่ แล้วเราจะแปลงจีนให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

 

จีนคิดใหญ่ : มุ่งสร้าง China’s Century