ยุทธศาสตร์ทีซีซีชูธง อสังหา ซื้อกิจการต่อยอด

29 ก.ย. 2562 | 11:44 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

โบรกฯ ส่องยุทธศาสตร์ “ทีซีซี กรุ๊ป” หลัง AWC ดีเดย์เทรดในตลาดฯ 10 ต.ค. นำ “อสังหาฯ” ชูธง ตามด้วยธุรกิจเครื่องดื่ม-ค้าปลีก และ F&N หัวหอกรุกตปท. เชื่อด้วยกระแสเงินสดมหาศาลไม่พ้นต้องต่อยอด “ซื้อกิจการ” มองการบริหาร “รวมศูนย์” ข้อจำกัดขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่ม

การขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ AWC จำนวน 8,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 6.00 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 48,000 ล้านบาท จำนวนนี้มีนักลงทุนสถาบันรวม 13 แห่งได้ตกลงจองซื้อแล้วถึง 3,454 ล้านหุ้น คิดเป็นจำนวน 50% ของจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขาย เป็นนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศ 3 ราย จองซื้อรวม 1,682 ล้านบาท โดยรายใหญ่เป็นการซื้อของกองทุนสิงคโปร์ หรือ GIC Private Limited ถึง 1,530 ล้านหุ้นมูลค่าร่วม 9,180 ล้านบาท

AWC อยู่ภายใต้การบริหารโดยนางวัลลภา ไตรโสรัส บุตรสาวคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี จะปิดการขายหุ้นไอพีโอ (รอบสถาบัน) วันที่ 3 ตุลาคม 2562 ยังเป็นวันเดียวที่นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จะแถลงทิศทางธุรกิจและวิสัยทัศน์ของกลุ่มฯประจำปี 2563 ไม่เพียงกับ การประกาศศักดาความสำเร็จ แต่ยังสะท้อนของการรุกโตอย่างรวดเร็วดันขนาดสินทรัพย์ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ยิ่งทิ้งห่างคู่แข่งจนยากที่ใครจะโค่นแชมป์อภิมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย เพราะมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) เฉพาะ AWC ที่มูลค่าสูงถึง 192,000 ล้านบาท (คำนวณ ณ ราคาไอพีโอ 6.00 บาท) “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” ถือหุ้นรวมกันถึง 75% ก็มีค่ามากถึง 144,000 ล้านบาท

เว็บไซต์ Bloomberg (เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562) เผยดัชนีอภิมหาเศรษฐี บุคคลที่รํ่ารวยที่สุดในโลก 500 อันดับ จากการคำนวณวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สิน โดยได้จัดอันดับมหาเศรษฐีไทยอันดับ 1 เป็นนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการบริหารของไทยเบฟเวอเรจ และเป็นอภิมหาเศรษฐีอยู่อันดับ 74 ของโลก มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
(ราว 5.05 แสนล้านบาท) ส่วนอันดับ 2 ของไทยเป็นนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf) ธุรกิจด้านพลังงาน อยู่อันดับ 260 ของโลก มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 6.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.01 แสนล้านบาท)

ยุทธศาสตร์ทีซีซีชูธง อสังหา ซื้อกิจการต่อยอด

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย)ฯ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การนำบริษัท AWC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเข้าเทรดในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 จะเป็นจิ๊กซอว์เชื่อมกลุ่มทีซีซีี กรุ๊ป ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นทั้งเรื่องขนาดของธุรกิจ และทรัพย์สินตัวบุคคล ตอกยํ้าว่า “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” จะเป็นเรือชูธง ตามมาด้วยธุรกิจเครื่องดื่ม (แอลกอฮอลล์/นอนแอลกอฮอล์) ผ่านทางด้านไทยเบฟและบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) รองมาอันดับ 3 คือ ธุรกิจค้าปลีกโดยมี บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เป็นหัวหอก และธุรกิจอื่นๆ อาทิกลุ่มประกัน, กลุ่มสื่อหลังเข้าไปถือหุ้นบริษัทย่อยจีเอ็มเอ็ม

“ภาพลักษณ์ของกลุ่มทีซีซีกรุ๊ป ช่วง 5-10 ปีหลังเปลี่ยนจากเดิมที่คนจะมองธุรกิจ เหล้า-เบียร์ มาก่อน แต่วันนี้ที่เห็นชัดเป็นเรื่องอสังหาฯ โดยมีทายาทเจ้าสัวเจริญกระจายไปดูแล จากจุดแรกที่เข้าไปเทกกิจการ บมจ. ยูนิเวนเจอร์ (UV) ,นิคมอุตสาหกรรมไทคอน ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ฯ(FPT) รวมไปถึงการทำเทนเดอร์เข้าซื้อกิจการ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอสังหาฯ พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสซึ่งจะเห็นภาพใน 2-3 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน อาทิ โครงการวันแบงคอก เดอะปาร์คบนถนนพระราม 4 สามย่านมิตรทาวน์ รวมถึงที่ผ่านมากลุ่มนี้ยังได้เข้าประมูลซื้อที่แปลงใหม่ๆ อย่างมาก เช่นตรงโบ๊เบ๊ ฯลฯ”

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทยฯ กล่าวว่ามองว่ายุทธศาสตร์ทีซีซีกรุ๊ปจากนี้ จะเน้นบุกเบิกในต่างประเทศมากขึ้น โดยผ่าน F&N ขณะที่ในประเทศถือว่าเต็มแล้ว ขึ้นกับว่ากิจการที่มีอยู่จะพัฒนาต่ออย่างไร และด้วยขนาดกระแสเงินสดที่เข้ามาแต่ปีมหาศาล ไม่พ้นต้อง “การซื้อกิจการ” ต่อยอดเพิ่ม

“ทีซีซีกรุ๊ปเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังมีช่องว่างที่กลุ่มนี้ยังไม่ได้เข้าไปทำ เช่นธุรกิจค้าปลีก ยังขาด คอนวีเนียนสโตร์ แบบ 7-11, ธุรกิจเครื่องดื่ม-อาหาร ก็ยังไม่เห็น “เครื่องดื่มชูกำลัง” ชัดเจน รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังขาดธุรกิจค้าวัสดุ เป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปสูง ซึ่งยังเป็นโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจนี้ได้ ส่วนธุรกิจประกันคาดว่าคงไม่ขยายไปมากกว่าปัจจุบัน จากข้อจำกัดกฎเกณฑ์ในไทย หรือธุรกิจการเงิน ธนาคาร ก็ได้บทเรียนปี 2540 กรณีของแบงก์มหานคร คงไม่ไปทำ” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี ปัญหาของกลุ่มนี้หลักๆ คือโครงสร้างการบริหารจัดการมากกว่าที่ยังเป็นระบบรวมศูนย์บริหาร ภายใต้ “ทีซีซี กรุ๊ป” ซึ่งมาถึงจุดหนึ่งการบริหารแบบรวมศูนย์อาจเป็นข้อจำกัดได้ 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3509 ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562