บาทแข็งโป๊ก สิ้นปีแตะ 30.5 บาท ต่อดอลลาร์ ส่งออกอ่วม

07 ต.ค. 2562 | 07:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กูรูชี้บาทยังแข็งค่าต่อ คาดทั้งปี 30.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาทุกปัญหาต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ อาจมีทั้งดีและร้าย เชื่อมั่นธปท.มีเครื่องมือเพียงพอประคอง

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย แต่คณะกรรมการได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็นเพื่อให้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้เพราะการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึง 27 กันยายน 2562 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น  6.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากเทียบกับค่าเงินในสกุลอื่นๆพบว่า เงินบาทแข็งค่า 12.5% เมื่อเทียบกับเงินวอน แข็งค่า 10.4% เมื่อเทียบกับยูโร  แข็งค่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย  แข็งค่า 9.5% เมื่อเทียบกับหยวน แข็งค่า 8.7% เมื่อเทียบกับปอนด์อังกฤษ แข็งค่า 7.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สิงคโปร์  แข็งค่า 7.2% เมื่อเทียบกับริงกิต  แข็งค่า 6.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ฮ่องกง และแข็งค่า 4.5% เมื่อเทียบกับเงินเยน  โดย วันที่ 27 กันยายน  เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าจากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

บาทแข็งโป๊ก สิ้นปีแตะ 30.5 บาท ต่อดอลลาร์ ส่งออกอ่วม

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า แนวโน้มเงินบาทสิ้นปี น่าจะอยู่ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนการแข็งค่าต่อเนื่องจากต้นปีสาเหตุมาจากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งเป็นการเกินดุลที่ไม่ได้เกิดจากการทำการค้า และไม่เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน แต่เกิดจากปัญหาหลักของโครงสร้างทางการค้า โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาติดต่อกัน(มิถุนายน-กันยายนมีรายการพิเศษจากการขายทองคำทำกำไร ทำให้เห็นตัวเลขส่งออกขยับในบางช่วง ประกอบกับการนำเข้าที่หดตัวส่วนหนึ่งมาจากราคานํ้ามันที่อยู่ในระดับตํ่า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย

บาทแข็งโป๊ก สิ้นปีแตะ 30.5 บาท ต่อดอลลาร์ ส่งออกอ่วม

แนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล และบางช่วงจะมีทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นกับตราสารหนี้บ้าง แต่ยอดคงค้างสุทธิยังติดลบ แต่ไม่สามารถทำให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งถ้าทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับราคานํ้ามันที่ยังอยู่ระดับตํ่า เกิดในเวลาเดียวกันก็จะยิ่งกดดันเงินบาทให้แข็งค่าต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ด้วยปัจจัยข้างต้นย่อมส่งผลต่อผู้ส่งออก ให้ตกอยู่ในภาวะลำบาก เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะไม่ใช่การเกินดุลจากการทำการค้า ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) และสมาคมธนาคารไทยได้เข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หลายครั้งแล้ว และเชื่อว่าธปท. พยายามจะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและดูแลการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอยู่แล้ว

มองไปข้างหน้าหากมีความจำเป็น ส่วนตัวเชื่อว่า ธปท.ยังมีเครื่องมือเพียงพอต่อการดูแลค่าเงินในระยะข้างหน้า ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกนั้น ยังเป็นกลุ่ม สินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าระหว่างประเทศที่คล้ายกันใช้ทดแทนกันได้และมีการแข่งขันราคาจึงได้รับผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน

ด้ายนายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ให้ความเห็นว่า น่าเป็นห่วงสถานการณ์ของเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สาเหตุมาจากดุลการชำระเงินของไทยเกินดุลเกือบ 2% ต่อจีดีพี โดยจะเห็นได้จากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้ดุลการชำระเงินเกินดุลมาจากเงินทุนไหลเข้า ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวดี โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเติบโต 20% รวมเงินลงทุนโดยตรงสุทธิ(FDI) การลงทุนจากภาคเอกชนและการส่งออกก็มีส่วนบ้าง ซึ่งรวมการส่งออก

บาทแข็งโป๊ก สิ้นปีแตะ 30.5 บาท ต่อดอลลาร์ ส่งออกอ่วม

 

ยิ่งไทยเกินดุลและทางออกของทุกปัญหาต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ จะยิ่งกดดันเงินบาทที่มีสิทธิแข็งค่าอีก แต่ไม่น่าจะทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ธปท.ทำได้เพียงประคอง ซึ่งต้องยอมรับว่าได้อย่างเสียอย่าง เราได้ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน  แต่ก็ต้องยอมเสียในส่วนภาคการส่งออกที่ชะลอตัว จากการแข็งค่าของเงินบาท โดยจะเห็นว่า ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไปแล้วมีทั้งยางพารา เกษตรแปรรูป กุ้ง ไก่หรือเครื่องประดับ ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนส่งออกสูง และส่งออกขายอย่างเดียวไม่ได้นำเข้า จึงมีต้นทุนสูง แต่ในรายที่ทำทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า จะมีการใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศหรือบัญชี FCD เพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งพบว่า ยอดคงค้างเงินฝากบัญชี FCD เติบโต 12%” 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,509 วันที่ 29 กันยายน -2 ตุลาคม 2562

                  บาทแข็งโป๊ก สิ้นปีแตะ 30.5 บาท ต่อดอลลาร์ ส่งออกอ่วม