เอฟดีไอไทยรั้งบ๊วยอาเซียน 4ปีสิงคโปร์ทิ้งห่าง12เท่า

28 ก.ค. 2562 | 09:10 น.

อังค์ถัดเผย FDI เข้าไทยเฉลี่ย 4 ปีรั้งท้ายกลุ่มอาเซียนเก่า ตะลึงสิงคโปร์ทุนไหลเข้ามากกว่าไทย 12 เท่า ขณะอินโดฯ เวียดนาม มาเลย์ ฟิลิปปินส์ไล่กวดตาม เอกชนชี้ผลพวงไทยติดหล่มการเมือง ทำต่างชาติขาดความเชื่อมั่น จี้รัฐบาลใหม่เร่งดันอีอีซี เอฟทีเอไทย-อียู เพิ่มแรงงานทักษะ โรดโชว์ดูดลงทุน

 

ข้อมูลจากองค์กรของสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ระบุช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2561) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามายังภูมิภาคอาเซียน (10 ประเทศ) พบว่า เข้ามายังสิงคโปร์ เป็นอันดับ 1 มูลค่า 286,932 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเฉลี่ยที่ 71,733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี รองลงมาคือ อินโดนีเซียมูลค่า 63,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ย 15,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี, เวียดนาม 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ย 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี, มาเลเซีย 38,908 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ย 9,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี, ฟิลิปปินส์ 26,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ย 6,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และไทย 24,410 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ย 6,102 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

 

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าค่าเฉลี่ยเอฟดีไอ 4 ปี ไทยได้รับน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนเดิม (หากไม่รวมบรูไน กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ทั้งนี้เอฟดีไอของสิงคโปร์เฉลี่ย 4 ปีได้รับมากกว่าไทย 12 เท่า อินโดนีเซียมากกว่าไทย 2.5 เท่า เวียดนามมากกว่าไทย 2.3 เท่า มาเลเซียมากกว่าไทย 1.5 เท่า ส่วนฟิลิปปินส์มากกว่าไทยเกือบ 10% โดยเฉพาะในปี 2559 เงินทุนเข้ามาไทยลดลง 68% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกมองว่าไม่น่าไว้วางใจในเวลานั้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นที่เคยเป็นนักลงทุนรายใหญ่ได้ลดการลงทุนในไทยกว่า 81% สหภาพยุโรป (อียู)ลดลงทุนลง 97% จีนลดลงทุนลง 21%

ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้เอฟดีไอเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดถึง 43 เอฟทีเอ โดยมีเอฟทีเอกับประเทศที่มีศักยภาพในการบริโภคสูงแล้ว เช่น สหรัฐฯ และอียู ต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีที่สิงคโปร์มีบุคลากรรองรับ และผลจากการเปิดเสรีทางการเงินทำให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้าไปตั้งสำนักงานจำนวนมาก ส่วนอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นเอฟดีไอด้านเหมืองแร่ เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ เคมีและผลิตยา ขณะที่มาเลเซียได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจสูงกว่าไทย ส่วนหนึ่งเพราะคนมาเลเซียพูดภาษาอังกฤษได้ดี

 

“อย่างไรก็ดีตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 เอฟดีไอของไทยฟื้นตัวดีขึ้น (มูลค่าเอฟดีไอ 2 ปีล่าสุดอยู่ที่ 6,478 และ 10,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ) จากโครงการอีอีซีที่รัฐบาลไทยได้เสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างมาก อนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ดินได้ อำนวยความสะดวกในการออกวีซ่า รวมถึง เร่งดำเนินโครงการพื้นฐานต่างๆ รองรับทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง และอื่นๆ ซึ่งหลังแถลงนโยบาย แล้วรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการทุก โครงการให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้ทุนเอฟดีไอไหลเข้า”

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งโครงการอีอีซีให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงบีโอไอต้องโรดโชว์ดึงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น ล่าสุดในปี 2562 ธนาคารโลกได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจเป็นอันดับ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก (โดยไทยได้รับคะแนนดีขึ้นใน 9 ด้านจาก 10 ด้าน) เป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์(อันดับ 2) และมาเลเซีย (อันดับ 15) คาดจะเป็นแรงจูงใจให้เอฟดีไอเข้ามามากขึ้น ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าต้องเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการไตรภาคี หากขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันจะกระทบเอสเอ็มอี และการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมที่ยังต้องใช้แรงงานมาก

 

ด้านนายอรินทร์ จิรา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) กล่าวว่า รัฐต้องเร่งดำเนินการใน
อีกหลายเรื่องเพื่อดึงทุนเอฟดีไอ เช่น การทำเอฟทีเอกับอียูเพื่อไม่ให้เสียเปรียบเวียดนามที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว การเข้าร่วมความตกลง CPTPP พัฒนาและเตรียมแรงงานที่มีทักษะฝีมือรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีในอีอีซีให้เพียงพอและทันกับเวลา ไม่เช่นนั้นเอฟดีไออาจไปเพื่อนบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ต้องมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา ช่วยเพิ่มงานใหม่ๆ ให้คนไทยมีงานทำเพิ่มขึ้น 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,491 วันที่ 28 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เอฟดีไอไทยรั้งบ๊วยอาเซียน  4ปีสิงคโปร์ทิ้งห่าง12เท่า