ขึ้นค่าแรง 400 บาท เขย่าฐานผลิตไทย!!!

21 ก.ค. 2562 | 00:30 น.

 

     ภาคเอกชนรอวัดใจรัฐบาล กับการตัดสินใจนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 308-330 บาทต่อวัน มาเป็น 400 บาทต่อวันว่าที่สุดแล้วตัวเองต้องอยู่ในภาวะต้นทุนค่าแรงงานพุ่งปรี๊ดหรือไม่!!!ตามคำสัญญาที่แต่ละพรรคออกมาประกาศเป็น นโยบายประชานิยมก่อนหน้านี้  ถึงเวลาที่ผู้ใช้แรงงานติดตามใกล้ชิด  ชนิดทวงถามรายวัน  

  ขึ้นค่าแรง 400 บาท  เขย่าฐานผลิตไทย!!!

   มองในแง่นายจ้างปีนี้ลำพังปัญหาที่เผชิญอยู่ก็น่าห่วง  ไล่เรียงทั้งเรื่องตัวเลขส่งออกที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอีกทั้งปัญหากำลังซื้อภายในประเทศที่คนเริ่มจับจ่ายน้อยลง เงินในกระเป๋าชักหน้าไม่ถึงหลัง  รับศึกหนักกับปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ปัญหาเศรษฐกิจโลก ล่าสุดนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็มาจ่อคอหอยอีก!

-ประสานเสียงขึ้นค่าแรงต้องผ่านไตรภาคี

   เมื่อกระแสค่าแรงกลับมาเป็นประเด็นร้อนโชว์หน้าสื่อพึ่บพั่บ หลังการเมืองแบ่งเก้าอี้ลงตัว ทำเอาภาคเอกชนนั่งไม่ติด นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รีบออกมาตอกย้ำว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs อาจถึงขั้นเลิกกิจการไป เพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว โดยกระบวนการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกต้องนั้น จะต้องผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี และในแต่ละพื้นที่จะมีค่าแรงไม่เท่ากันตามเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆจะไปกำหนดเป็นค่าแรงราคาเดียวทั่วประเทศไม่ได้ โดยเห็นว่าค่าแรงปัจจุบันของคนไทยส่วนใหญ่มีอัตราที่เหมาะสมอยู่แล้ว ควรผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ สนับสนุนให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ โดยแต่ละอุตสาหกรรมและในแต่ละจังหวัดสามารถจ่ายค่าแรงที่แตกต่างกันได้ตามกลไกตลาด จึงไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงโดยทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ   

      สอดคล้องกับท่าทีของกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยฯ ออกมาพูดชัดเจนว่า ไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ขอให้การพิจารณาปรับขึ้นเป็นหน้าที่ของไตรภาคีจังหวัดและไตรภาคีกลางเป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้าย  เพราะจะรับรู้เหตุผลความจำเป็นในการปรับ-ไม่ปรับ  และจากประสบการณ์ในการปรับค่าแรงรวดเดียว 300 บาทต่อวันกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และคนที่ได้ประโยชน์มากกลับเป็นแรงงานต่างด้าวในไทย

  ขึ้นค่าแรง 400 บาท  เขย่าฐานผลิตไทย!!!

  จากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน ปี 2562 พบว่า มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน  38.82 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 38.38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.63 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่ามีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1.0 หมื่นคน จาก 38.37 ล้านคน เป็น 38.38 ล้านคน ผู้ว่างงานลดลง 6.3 หมื่นคน จาก 4.26 แสนคน เป็น 3.63 แสนคน) ขณะที่ปริมาณแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศไทย (สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนมิถุนายน 2562 กรมการจัดหางาน) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,268,285 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทั่วไป 2.98 ล้านคน แรงงานประเภทฝีมือ 1.79 แสนคน แรงงานตลอดชีพ 241 คน ชนกลุ่มน้อย 6.2 หมื่นคน และแรงงานไป-กลับ ตามฤดูกาลอีก 4.33 หมื่นคน

-ปรับค่าแรงได้ แต่ฝีมือต้องปรับตามด้วย

      ก่อนหน้านี้แม้แต่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรอยู่ในกรอบที่ฝีมือแรงงานต้องพัฒนาด้วย  ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นอุปสรรคของการดึงทุนใหม่เข้ามาตั้งฐานการผลิต  หากแรงงานไทยไม่พัฒนาฝีมือแต่ได้รับค่าแรงที่สูง  ก็จะเป็นการเปรียบเทียบฐานการผลิตกับประเทศเพื่อนบ้านได้โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน และจะเห็นว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เกิดการลงทุนในเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมามากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกอย่างกลุ่มเครื่องมือสื่อสาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโลกก็เลือกไปปักฐานในเวียดนามกันแล้ว และยังต้องจับตาอีกเพราะแว่วว่าบางค่ายกำลังตัดสินใจเคลื่อนย้ายทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีก

-แรงงานต่างด้าวก็ช่วยปลุกศก.

    การสะท้อนความเห็นจากมุมของนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่า อยากให้ซีกนายจ้างมองอีกมุมว่า ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติพอได้ค่าแรงก็นำมาจับจ่ายใช้สอย เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจด้วยเหมือนกัน  “ผมถามว่าเมื่อครั้งขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ซีกนายจ้างได้รับผลกระทบหรือไม่ !   ถ้ารัฐโยนปัญหาให้ไตรภาคีสุดท้ายฝ่ายรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้ตัดสินอยู่ดี เพราะถึงอย่างไรฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายลูกจ้างก็คนละขั้วกันอยู่แล้ว

  ขึ้นค่าแรง 400 บาท  เขย่าฐานผลิตไทย!!!

         เวลานี้มองในมุมนายจ้างก็ถูกรุมเร้ารอบด้านขณะที่การปรับขึ้นค่าแรง  ยังไม่ได้สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่าแรงงานมีการพัฒนาฝีมือดีขึ้นตามไปด้วยและสอดคล้องกับการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทคหรือยัง!  ขณะที่ซีกลูกจ้าง ก็ต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ข้าวของมีราคาแพง  ยังต้องออกแรงทวงสัญญาจากรัฐบาล ขณะที่ภาครัฐก็ตกอยู่ในภาวะกดดัน เพราะชูนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นโยบายประชานิยมแทบทุกพรรคไปแล้ว  ยังต้องจับตาหากกดปุ่มขึ้นค่าแรง 400 บาท  จะเขย่าฐานผลิตไทยแค่ไหน!

   นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงานต้องใช้ความรอบคอบพิจารณาอย่างรอบด้าน!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

  ขึ้นค่าแรง 400 บาท  เขย่าฐานผลิตไทย!!!