หนี้เสียแบงก์ทะลักกลุ่มRe-entryพุ่ง

04 ก.ค. 2562 | 07:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

นักวิเคราะห์แนะจับตา หนี้ปรับโครงสร้าง-หนี้ไหลกลับทะลักเข้าระบบ กลุ่มเอสเอ็มอีการค้า-เกษตรยังน่าห่วง “ทีเอ็มบี”เผยยอดหนี้ปรับโครงสร้างหนี้เร่งตัวขึ้น ชี้ไตรมาส 1 ยอด 1.34 หมื่นล้านบาท ด้าน“กสิกรไทย” กังวล Re-Entry เร่งตัวไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 11.2% เทียบหนี้เกิดใหม่เพียง 5.3%

ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้คุณภาพหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยค่าลง โดยเฉพาะสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ประสบปัญหาจากยอดขายที่ลดลงตามกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอลง โดยเฉพาะกลุ่มค้าส่งค้าปลีก การผลิตที่ขึ้นกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรือราคาสินค้าเกษตร รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ทำให้แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)เพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ย้อนกลับมาเป็นหนี้เสียใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

หนี้เสียแบงก์ทะลักกลุ่มRe-entryพุ่ง

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ไตรมาส 1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.94% แต่จะเห็นว่า เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น มีสัญญาณจากหนี้ย้อนกลับ(Re-Entry)ที่มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เกิดใหม่ (New  NPLs) ในไตรมาสนั้นๆ  โดยจากตัวเลข พบว่า Re-Entry NPLs ในไตรมาส 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้น 11.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 ขณะที่ตัวเลข New NPLs ไตรมาส1  ปี 2562 ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561

ทั้งนี้ หากดูการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล จะพบว่าสัดส่วน Re-Entry เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าเอ็นพีแอลไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 7.86 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เอ็นพีแอลเกิดใหม่ 5.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65.9% ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2561 ที่มีสัดส่วน 68.4% หรือคิดเป็น 5.47 หมื่นล้านบาท จากยอดเอ็นพีแอลรวม 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Re-Entry ไตรมาส 4 ปี 2562 อยู่ที่ 1.94 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 24.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2561 ที่มีสัดส่วนเพียง 21.8% หรือคิดเป็น  1.74 หมื่นล้านบาท โดยยอดเอ็นพีแอลรวมไตรมาส 1 ของปี 2562 อยู่ที่ 4.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.33 แสนล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2561 สอดคล้องกับการปรับประมาณการเอ็นพีแอลของศูนย์วิจัยฯที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.98-3% จากเดิมที่ 2.97-2.98%

หนี้เสียแบงก์ทะลักกลุ่มRe-entryพุ่ง

 

อย่างไรก็ดี หากดูกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการไหลย้อนกลับของหนี้เอ็นพีแอลมากจะเป็นกลุ่ม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรและภาวะเศรษฐกิจ กลุ่มก่อสร้าง และกลุ่มค้าส่งที่เจอผลกระทบจากธุรกิจค้าปลีก(e-Commerce) สะท้อนว่า ลูกค้ายังไม่แข็งแรง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว และกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่

“ตอนนี้กลุ่มที่เป็นประเด็นเยอะและน่าติดตาม จะเป็นกลุ่ม Re-Entry เพราะเป็นกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว และได้รับการปรับโครงสร้างไปแล้ว แต่เจอภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ส่งผลให้กับมาเป็นหนี้ใหม่ ซึ่งเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่ม Re-Entry มากกว่ากลุ่มที่เป็นหนี้เสียใหม่”

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารTMB Analytics ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน)หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า เอ็นพีแอลที่ลดลง(NPLs Resolution)ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคการค้า(Retail Trade)ที่มีการปรับโครงสร้างค่อนข้างมาก โดยปี 2561 มียอดการปรับโครงสร้างหนี้กว่า 6.03 หมื่นล้านบาทและ 1.34 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2562 และอื่นๆเช่น ตัดหนี้สูญ (Write-off)และขายหนี้ทิ้ง (Sell-off) 2.64 หมื่นล้านบาท จากปี 2561 อยู่ที่ 1.10 แสนล้านบาท

หนี้เสียแบงก์ทะลักกลุ่มRe-entryพุ่ง

ทั้งนี้ หากดูยอดปรับโครงสร้างหนี้ไตรมาสแรกที่ 1.34 หมื่นล้านบาทนั้น มาจากธุรกิจการค้าถึง 4,439 ล้านบาทและธุรกิจอื่นๆ 9,021 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 ภาคการค้ามีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งสิ้น 2.92 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ปรับโครงสร้าง 1.65 หมื่นล้านบาท ส่วนธุรกิจอื่นๆ ปรับโครงสร้าง 3.10 หมื่นล้านบาทในปี 2561

 

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของเอ็นพีแอลเกิดใหม่ (New NPLs) และหนี้ไหลย้อนกลับ(Re-Entry) ในไตรมาสแรกปี 2562 พบว่ามาจากกลุ่มภาคการค้า (Retail Trade) มีสัดส่วนสูงถึง 53% และหากดูไส้ในลงไป จะเป็นกลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และจากข้อมูลพบว่า กลุ่มนี้มีหนี้เอ็นพีแอลสูงถึง 6.8% และสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ(SM)อยู่ที่ 2.8% โดยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ลดลงโดยไตรมาส 1 ขยายตัวเพียง 0.6% จากยอดสินเชื่อคงค้าง 3.77 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับ ค้าปลีก(Retail Shop)ที่มีเอ็นพีแอลสูง 8.6% และ SM อยู่ที่ 3.7% โดยสินเชื่อขยายตัวติดลบ 7.1% จากยอดคงค้าง 5.36 หมื่นล้านบาท และกลุ่มค้าส่ง (Wholsale) เอ็นพีแอล 7.4% และ SM 3.5% สินเชื่อเติบโตติดลบ 1.2% จากยอดสินเชื่อคงค้าง 5.46 แสนล้านบาท

“แม้เอ็นพีแอลจะลดลง แต่จะเห็นว่า ยอดปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะอาจจะเป็นวิธีง่ายสุดในการลดเอ็นพีแอล แต่สุดท้ายก็จะกลายมาเป็นตัวเลข Re-Entry ซึ่งจะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์วนไปวนมากับหนี้ ซึ่งต้องกลับมาตั้งคำถามว่า หนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้มากี่ครั้งแล้ว” 

 

หน้า 19 -20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,484 วันที่ 4 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562