NCL ปักธงสหรัฐฯ เหตุยอดนำเข้าพุ่ง ไม่หวั่นกำแพงภาษี

20 มิ.ย. 2562 | 10:34 น.

 

 

สัมภาษณ์

 

ความคาดหวังว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ประทุขึ้นจะสิ้นสุดลงในเวทีสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ที่กำลังจะมีขึ้นที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ดูเหมือนจะน้อยลงทุกที เพราะจนถึงวันนี้ แต่ละฝ่ายแทบไม่มีการเตรียม การใดๆ สำหรับการหารือ ซึ่งจะมีความหมายต่อเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมาก

นายกิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด(มหาชน) หรือ NCL ซึ่งมีธุรกิจในสหรัฐฯ กลับมีความเห็นต่าง โดยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมการค้าโลกขณะนี้ดีมาก ถ้าสหรัฐฯ ยังโตแบบนี้อีก 2-3 ปีข้างหน้า ยุโรปจะตามมาและประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯจะตามมา ประเทศไหนที่ไม่ได้เป็นคู่ค้าจะทรุดลง โดยดูจากสิ่งที่สัมผัส ไม่ว่าสหรัฐฯจะตั้งกำแพงภาษีอย่างไรก็แล้วแต่การนำเข้าสหรัฐฯไม่ได้ลดลงเลยแสดงว่า เศรษฐกิจแข็งแรงและดีมาก ขณะเดียวกันเม็ดเงินตั้งกำแพงภาษี 25% มูลค่ามหาศาล ที่จะไหลเข้ารัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ฐานะรัฐบาลแข็งแรงมาก 

NCL ปักธงสหรัฐฯ  เหตุยอดนำเข้าพุ่ง  ไม่หวั่นกำแพงภาษี

กิตติ  พัวถาวรสกุล

“ผมเพิ่งกลับจากสหรัฐฯเท่าที่สัมผัสคนที่นั่นไม่ได้รู้สึกอะไรเลยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาไม่ได้รับผลกระทบ เพราะถ้าจะเทียบเศรษฐกิจต้องมองระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งหลังเกิดปัญหาซับไพรม์ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ นายบารัก โอบามา เข้ามาเหมือนตั้งหลัก แค่ยกการ์ด ไม่กล้าเดินหน้ารุก แต่พอนายโดนัลด์ ทรัมป์มารุกแหลกเลย ซึ่งการรุกจะเก็บเกี่ยวจะสร้างบางสิ่งบางอย่างไว้ในอนาคต ช่วงนี้จึงเหมือนเพิ่งเริ่มโต และอีก 2-3 ปีจะดีขึ้นเรื่อยๆ”

ดังนั้นหากจะสร้าง Business Model ต้องเกาะกระแสสหรัฐฯไว้ ไม่เช่นนั้นจะตกขอบ อย่างในอดีตของ NCL จะกระจายโมเดลเป็นเอเชีย 30% ยุโรป 30%  สหรัฐฯ 30% อีก 10% ปีที่แล้วไปเปิดออฟฟิศต่างประเทศ 5 แห่งคือสหรัฐฯ อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม และสิงคโปร์ เพื่อทำการค้าจากที่นั่นกับทั่วโลก ซึ่งปรากฏว่า ออฟฟิศที่สหรัฐฯโตเร็วกว่าที่อื่น และอินโดนีเซียก็โตเร็วจากที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปที่นั่น ขณะที่จีนยากมาก เวียดนามก็ไม่เท่าไหร่ ดังนั้นจึงวางแผนที่จะมุ่งไปที่สหรัฐฯมากขึ้น เพราะภาพมันชัดเจนแล้ว 

ดังนั้นอีก 5 ปีสัดส่วนรายได้ในประเทศจะเหลือเพียง 25% จากเป้ารายได้รวม 5,000 ล้านบาทหรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากต่างประเทศไม่ได้กระจุกตัวในประเทศใดประเทศหนึ่ง และหากในอนาคตเกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนามหรืออินโดนีเซีย เราก็มีออฟฟิศทั้ง 2 แห่งและกำลังดูที่อินเดีย มองว่า เป็นประเทศที่น่าลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรอีก 4-5 ราย ซึ่งถ้ามีที่อินเดียจะต่อไปยังตะวันออกกลางได้ และกำลังเจรจากับสายการบินแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มในปีหน้าและจะทำให้บริการขนส่งของ NCL ครบทั้งขนส่งทางทะเล ทางบก และทางอากาศ 

นอกจากนั้นบริษัทกำลังศึกษารูปแบบการออกเหรียญดิจิทัล เพื่อลงทุนในตู้คอนเทนเนอร์ เพราะราคาตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ช่วง 2 ปีเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จาก 1,200-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตอนนี้ 1,800-2,000 แล้วถ้าบอกว่า ปีหน้าราคาขึ้น 20% จะมีคนสนใจลงทุนหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเช่าตู้ 3,000 ตู้ แม้ปีต่อปีจะถูกกว่าการซื้อเอง แต่หากเทียบ 5  ปีแล้วการซื้อเองต้นทุนจะถูกลง แต่กระแสเงินสดจะติดลบ จึงต้องระดมทุนมาซื้อตู้ เพื่อให้ต้นทุนลดลง กระแสเงินเราดีขึ้น กำไรก็มากขึ้น พอถึงเวลาถ้าจะขายตู้ โอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นก็มี ซึ่งจะได้กำไร 3 ต่อ กำไรจากการใช้ กำไรจากการเช่าและยังได้กำไรจากการขายตู้ด้วย เพราะแม้เหล็กจะเสื่อม แต่มูลค่าเสื่อมสุดกลายเป็นเศษเหล็ก ซึ่ง 1 ตู้มูลค่าเศษเหล็กไม่เคยตํ่ากว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

 

“เหรียญที่เราจะออกเหมือน STO เป็น Security Token Offering มีสินทรัพย์หนุนหลังคือ ตู้คอนเทนเนอร์ ไม่เหมือน ICO ที่ไม่มีสินทรัพย์ ซึ่งเราทำได้เข้าเกณฑ์หมด ที่ผ่านมาการลงทุนในเหรียญดิจิทัลไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีอะไรมาหนุนหลัง ลอยๆ ไม่ชัดเจนว่า ลงทุนแล้วจะได้อะไร ซึ่งเราวางแผนจะระดมทุน 1,000 ล้านบาท มูลค่าเหรียญละ 100  ดอลลาร์สหรัฐฯ หากไม่พอใจก็ไปขายในตลาดรองได้ที่ Bitc Club และยังรับซื้อคืนที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ลงทุนไป 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากไม่พอใจ ซึ่งคาดว่าน่าจะออกได้ในปีหน้า” 

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3480 วันที่ 20-22 มิถุนายน 2562

NCL ปักธงสหรัฐฯ  เหตุยอดนำเข้าพุ่ง  ไม่หวั่นกำแพงภาษี