เทรดวอร์เอฟเฟกต์!!! เขย่าฐานผลิตส่งออกรถยนต์ไทย

01 มิ.ย. 2562 | 09:01 น.

 

 

 ภาพรวมเศรษฐกิจส่งสัญญาณไม่ดีตั้งแต่ต้นปี2562 หลายสำนักต่างออกมาประกาศปรับเป้าตัวเลขส่งออก และปรับเป้าจีดีพีใหม่ รวมถึงบริษัทเอกชนบางบริษัทก็ต้องหันมาปรับแผนภายใน โดยเฉพาะสถานการณ์ การส่งออกที่ได้รับแรงเหวี่ยงจากสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา 

ล่าสุดผลกระทบจากสงครามการค้าขยายผลลามไปทั่วโลก  ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น  เพราะล่าสุดภาคการผลิตบางอุตสาหกรรมออกอาการขาสั่น  หวั่นวิตกว่าเป้าที่ตั้งไว้อาจจะพลาดเป้าได้   บางอุตสาหกรรมเริ่มเดินหน้ารัดเข็มขัด  เตรียมแผนรับมืออย่างเต็มสูบ

เทรดวอร์เอฟเฟกต์!!!  เขย่าฐานผลิตส่งออกรถยนต์ไทย

    ที่น่าจับตาในเวลานี้เห็นจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะฐานการผลิตไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่มียอดการผลิตปี 2561 อยู่ลำดับที่ 10 ของโลก ด้วยยอดการผลิต 2.16 ล้านคัน ชนะแคนาดา รัสเซีย และอังกฤษ หลายค่ายเข้ามาปักฐานผลิตในประเทศไทยเพื่อส่งออกและขายในประเทศ  และที่น่าติดตาม คือแรงกระเพื่อมจากสงครามการค้า   กำลังทำให้ค่ายรถที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยและพึ่งพาตลาดส่งออกเสียรังวัด!

-ปรับรับแรงเหวี่ยงสงครามการค้า

ล่าสุดข่าวจากวงในเล็ดลอดออกมาว่า ขณะนี้มีค่ายรถยนต์มากกว่า 1 ค่าย ปฎิบัติการภายในแบบเงียบๆ ประกาศโครงการเออรี่ รีไทล์  บางค่ายลดชั่วโมงการทำงานลง  และล่าสุดมีค่ายหนึ่งที่ออกมาประกาศภายในองค์กร ถึงโครงการเออรี่ รีไทล์  เริ่มออกประกาศตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2562 ให้พนักงานยื่นเจตจำนงเข้ามาภายใน สิ้นเดือนกรกฏาคมนี้   แว่วว่าค่ายรถรายนี้เฉพาะโรงงาน 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมโซนภาคตะวันออก มีพนักงานกว่า 1,400 คน 

พิจารณาตามประกาศ พบว่ากลุ่มทุนผลิตรถยนต์แบรนด์ดังรายนี้ แบ่งการเออรี่ รีไทล์  ออกเป็น 2 ส่วน คือ  ส่วนแรก พิจารณาจากอายุงาน 4  ระดับ  ประกอบด้วยอายุงานตั้งแต่10-14 ปี, อายุงานตั้งแต่ 15-19 ปี ,อายุงานตั้งแต่ 20-24 ปีและอายุงาน25 ปีเป็นต้นไป

ส่วนที่สองพิจารณาจากอายุพนักงาน 2 ส่วน  คือตั้งแต่อายุ 45-50 ปี  และอายุ51 -54 ปี  โดยทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวจะได้รับสิทธิ์ชดเชยตามอายุพนักงานดังนี้  อายุงานตั้งแต่ 10-14 ปี และพนักงานมีอายุ 45-50 ปี  ได้เงินชดเชย 16.5 เดือน  อายุพนักงาน 51 -54 ปี ได้เงินชดเชย 17 เดือน

อายุงาน 15 -19 ปี และพนักงานที่มีอายุ 45-50 ปี ได้รับสิทธิ์ชดเชย 17.5 เดือน  ส่วนพนักงานอายุ 51-54 ปี ได้รับสิทธิชดเชย 18 เดือน  ส่วนอายุงาน 20-24 ปี  และเป้นพนักงานที่มีอายุ 45-50 ปี  ได้รับสิทธิ์ชดเชย 22.84 เดือน  และพนักงานอายุ 51-54 ปี ได้รับสิทธิ์ชดเชย 23.34 เดือน

ส่วนอายุงาน 25 ปีเป็นต้นไป และกลุ่มพนักงานที่มีอายุ 45-50 ปี ได้รับเงินชดเชย 26.84 เดือน  และพนักงานอายุ 51-54 ปี ได้รับเงินชดเชย 27.34 เดือน

เทรดวอร์เอฟเฟกต์!!!  เขย่าฐานผลิตส่งออกรถยนต์ไทย

-สงครามการค้าขย่มตลาดส่งออก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ รถยนต์ค่ายนี้ มองเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มออกอาการตกหลุมอากาศ การผลิตรถทั้ง 3 โมเดลที่ผลิตออกมาขายไม่ดี  โมเดลที่เคยขายดีก็อาจจะมีอาการติดหล่มอยู่บ้าง  เจอทั้งเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี และสงครามการค้าขย่มความเชื่อมั่น โดยเฉพาะรถยนต์ที่พึ่งพาตลาดส่งออกขายไม่ดี  จึงประกาศให้พนักงานที่มีคุณสมบัติตามอายุงานและอายุตัวที่ระบุไว้สามารถติดต่อรับใบสมัครที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมถึงเดือนกรกฏาคม2562

ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ค่ายนี้ มีการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 60% กระจายไปยังตลาดอาเซียน เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา  เมื่อการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าจึงเร่งปรับตัว  เริ่มจากการลดต้นทุน ปรับลดพนักงาน

“การปรับแผนรับมือ คือการทำเพื่อให้บริษัทอยู่รอด   บางค่ายรถยนต์เริ่มทยอยปลดพนักงาน Supervisor ไปบ้างแล้ว เนื่องจากเเบกรับภาระขาดทุน และค่าแรงงานที่สูงไม่ไหว รถที่ผลิตออกมา  มีบางส่วนจอดเต็ม Stock ขายไม่ได้โดยเฉพาะส่วนที่จะส่งออก เเละกำลังลดพนักงานออกชุดเเรก บางค่ายจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เพราะยังมียอดขายที่ส่งออกไปต่างประเทศอยู่  บางค่ายอยู่ระหว่างทำกิจกรรมลดต้นทุนอย่างหนัก ไม่มี OT ทำกิจกรรรม Balance งานใหม่ทั้งระบบเพื่อลดค่าใช้จ่าย เเละบางค่ายยังไม่ปลดพนักงานในขณะนี้ เพื่อรอดูภาพรวมทางเศรษฐกิจอีกที”   เหล่านี้คือคำบอกเล่าของคนในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สรุปความเคลื่อนไหวภายในให้เห็นภาพ และเตรียมรับมือ!

เทรดวอร์เอฟเฟกต์!!!  เขย่าฐานผลิตส่งออกรถยนต์ไทย

อย่างไรก็ตามปี2562 วงการรถยนต์ต่างคาดหวังว่าจะมียอดการผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 2.1 ล้านคัน  แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 1.1 ล้านคันและขายในประเทศราว 1 ล้านคันต่อปี เทียบกับปีที่ผ่านมายอดการผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ประมาณ 2.16 - 2.17 ล้านคัน ในจำนวนนี้ขายในประเทศ 1.04 ล้านคัน และส่งออกประมาณ 1.13 ล้านคัน

     สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบหลายประเทศในภาคพื้นนี้  โดยเฉพาะการเป็นศูนย์รวมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีศักยภาพ ผู้ผลิตรถยนต์สามารถใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้ถึง 60 %   

     แม้วันนี้เริ่มมีสัญญาณว่า การส่งออกรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทย เกิดผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว  แต่ก็เชื่อว่าความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย จะฝ่ากฤตไปได้  อย่างน้อยเวลานี้ก็มีการ ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไม่ดี....แต่ทำไมรถยนต์ในประเทศขายดี!!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

เทรดวอร์เอฟเฟกต์!!!  เขย่าฐานผลิตส่งออกรถยนต์ไทย