ผู้ถือหุ้นไอเฟควอนศาลแพ่งช่วยดับวิกฤติ หลังหมอวิชัย ขอคุ้มครองชั่วคราว สกัดบอร์ดใหม่เข้าทำหน้าที่

02 พ.ค. 2562 | 01:46 น.

ผู้ถือหุ้น-ผู้ถือหุ้นกู้ไอเฟค ร้องศาลแพ่งช่วยดับวิกฤติ เบิกทางบอร์ดชุดใหม่ เข้าบริหาร เร่งเคลียร์สารพัดปัญหาทันสถานการณ์ หลัง “หมอวิชัย” ขอคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้กรรรมการชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆที่ได้รับฉันทามติจากผู้ถือหุ้น ปูดซ้ำใครกันแน่ทุจริต/แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง จนต้องพ้นจากตำแหน่ง

รายงานข่าวเปิดเผยว่า  วันที่ 2 พฤษภาคม 2562  ผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง กรณี นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท IFEC ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ พ.7611/2561 ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อไม่ให้กรรมการชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ โดยศาลแพ่งได้มีการนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 และจะนัดฟังคำสั่งในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 นี้

โดยหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ระบุว่า นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการบริษัท IFEC ที่ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ ถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 กรณีกระทำโดยทุจริตโดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น โดยการใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจากการไม่เปิดเผยข้อมูลการผิดนัดชำระตั๋วแลกเงินจนเป็นเหตุให้หุ้น IFEC ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 และบริษัทไม่จัดทำงบการเงินตั้งแต่ปี 2560 ไม่จัดทำงบการเงินรายไตรมาศ ไม่แต่งตั้งผู้สอบบัญชี ไม่มีกรรมการตรวจสอบ จนถึงขั้นทำให้ IFEC เข้าข่ายบริษัทมหาชนที่อาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ  อีกทั้งบริษัทย่อยของ IFEC ที่มีอยู่ประมาณ 45 บริษัทที่มีนายวิชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เนื่องจากคำสั่งกล่าวโทษของ ก.ล.ต. มีผลเฉพาะการห้ามไม่ให้นายวิชัย เป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ IFEC เท่านั้น แต่ไม่สามารถปลดนายวิชัย ออกจากการเป็นกรรมการในบริษัทย่อยของ IFEC ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ทำให้นายวิชัย สามารถบริหารผลประโยชน์จากบริษัทย่อยของ IFEC ได้ต่อไป ทั้งที่ IFEC เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทย่อยเกิน 90% 


หนังสือร้องขอความเป็นธรรม ยังระบุว่า บริษัท IFEC มีปัญหาสะสมมานาน ปัญหาคดีความฟ้องร้องกันระหว่างผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ผู้เดือดร้อน พนักงาน กับบริษัทฯ และอดีตผู้บริหาร มากมายหลายสิบคดี ซึ่งล้วนแต่มีนายวิชัย เข้าไปเกี่ยวข้อง  ซึ่งหากนายวิชัย ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหาร และปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยเพียงประมาณ 300,000 หุ้น นั้น หากนายวิชัยมีเจตนาโดยสุจริตจริง ควรพิจารณาถึงปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่านายวิชัย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นนายวิชัย จึงควรมีวิจารณญาณของวิญญูชนที่ดี เปิดโอกาสให้กรรมการชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามฉันทามติ อีกทั้งหนึ่งในกรรมการที่ได้รับเลือกตามฉันทามติที่ถูกต้องนั้น ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 ของบริษัทฯ โดยถือหุ้นกว่า 202 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ได้มีโอกาสเข้าไปบริหารงานและแก้ไขปัญหาที่สะสมมาตลอดเกือบ 3 ปี

ผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งหากมิได้มีการแก้ปัญหาให้ทันกับสถานการณ์ที่วิกฤติ ณ ขณะนี้จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้างและผู้ถือหุ้นกว่าสามหมื่นราย รวมถึงเจ้าหนี้อีกจำนวนมาก และเป็นความเดือดร้อนที่ไม่จบสิ้น จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เพื่อให้กรรมการชุดใหม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาได้ทันกับสถานการณ์ที่เร่งด่วน