สำนักงานสถิติเผยภาคกลางย้ายถิ่นสูงสุดเกือบ 2 แสนคน

28 เม.ย. 2562 | 09:35 น.

       นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผย ผลการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร 2561 พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีจำนวนทั้งสิ้น 5.69 แสนคนหรือคิดเป็นอัตราการย้ายถิ่นร้อยละ 0.8 จากประชากรทั้งประเทศ (67.87 ล้านคน)  โดยที่ภาคกลางมีอัตราการย้ายถิ่นสูงสุด (ร้อยละ 1.0)  ส่วนกรุงเทพมหานคร มีอัตราการย้ายถิ่นต่ำสุด (ร้อยละ 0.4)  ในปี 2561 กลุ่มอายุที่มีการย้ายถิ่นมากที่สุดคือ กลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25-59 ปี)   ซึ่งเป็นวัยทำงานมีจำนวน 3.16 แสนคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 55.6 ของผู้ย้ายถิ่นทั้งหมด รองลงมาคือ กลุ่มวัยเยาวชน (15-24 ปี) มีจำนวน 1.64 แสนคน (ร้อยละ 28.8) กลุ่มวัยเด็ก (0-14 ปี)มีจำนวน 6.86 หมื่นคน (ร้อยละ 12.1) และกลุ่มวัยผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 2.01 หมื่นคน (ร้อยละ 3.5)หากพิจารณาอัตราการย้ายถิ่น พบว่า กลุ่มวัยเยาวชน(อายุ 15-24 ปี) มีอัตราการย้ายถิ่นสูงสุด (ร้อยละ 1.7)  รองลงมาคือ  กลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25-59 ปี) (ร้อยละ 0.9)  และกลุ่มวัยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)   มีอัตรา การย้ายถิ่นต่ำสุด (ร้อยละ 0.2)   หากเปรียบเทียบกับการสำรวจปี 2560 พบว่า อัตราการย้ายถิ่นส่วนใหญ่ของทุกกลุ่มมีสัดส่วนลดลง ยกเว้นกลุ่มวัยผู้สูงอายุที่อัตราการย้ายถิ่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

สำนักงานสถิติเผยภาคกลางย้ายถิ่นสูงสุดเกือบ 2 แสนคน
                เมื่อสอบถามถึงสาเหตุของการย้ายถิ่น พบว่า ผู้ย้ายถิ่นจำนวน 2.10 แสนคน (คิดเป็นร้อยละ 36.9) ย้ายถิ่นด้วยสาเหตุด้านครอบครัว  เช่น  ติดตามคนในครอบครัว  หรือกลับภูมิลำเนา รองลงมา จำนวน 1.71 แสนคน  (หรือคิดเป็น ร้อยละ 30.2)  ย้ายถิ่นด้วยสาเหตุการงาน เช่น หางานทำหน้าที่การงาน หรือต้องการเปลี่ยนงาน จำนวน 9.98 หมื่นคน (ร้อยละ 17.6) ย้ายถิ่นด้วยสาเหตุย้ายที่อยู่อาศัย ที่เหลือเป็นการย้ายถิ่นด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และเพื่อดูแลผู้อื่น เป็นต้น