‘ธนาธร’ ส่อตกม้าตาย ปมถือหุ้นสื่อ

06 เม.ย. 2562 | 00:00 น.

คดีความเรียงหน้ามาเป็น ตับ สำหรับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วันนี้พ่วงสถานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่ส.ส.รอการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนอุณหภูมิทางการเมืองเพิ่มอีกหลายขีด เมื่อธนาธรสื่อสารกับผู้สนับสนุนว่า การถูกตำรวจออกหมายเรียกเข้าให้ปากคำในคดีที่ถูกกล่าว หากระทำผิด ม.116 และ 189 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นเรื่องของ “อำนาจมืด” เพื่อสกัดพรรค และปลุกคนลุกขึ้นต่อสู้เผด็จการ

 

ถือหุ้นสื่อหมัดน็อกคดีแรก

แต่เมื่อพลิกดูบรรดาคดีความทั้งหลายของ ธนาธร แล้ว คดีหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นความผิดว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีกระบวนการคือ จาก กกต. ส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งชี้ขาด เป็นขั้นตอนที่เร็วสุด หากพิพากษาว่าผิด จะเป็น “หมัดน็อก” ธนาธรหมัดแรก 

หลังจากถูกสื่อตั้งข้อสังเกตว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคและผู้สมัครส.ส.อนาคตใหม่ ถือครองหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อ จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาหลังสมัครรับเลือกตั้ง จึงเข้าลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต่อมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เข้ายื่น คำร้อง กกต.ได้รับเรื่องและตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยเรียก ศรีสุวรรณ ให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา

เรื่องการถือครองหุ้นสื่อนี้ ธนาธร ออกมาชี้แจงเป็นระยะ แต่ยิ่งมีประเด็นส่อพิรุธตามมา โดยรับว่าถือหุ้น บริษัทวี-ลัคฯ จำนวน 675,000 หุ้น ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 จริง แต่ได้โอนให้แม่(นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ) แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 เช่นกันวันดังกล่าวภริยานายธนาธร ก็โอนหุ้นบริษัทนี้ให้นางสมพรด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นเหลือ 8 คนจากเดิม 10 คน ส่วนการบันทึกทางทะเบียนว่าเพิ่งโอนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ตนไม่รับรู้อะไรด้วย

‘ธนาธร’ ส่อตกม้าตาย ปมถือหุ้นสื่อ

แต่ธนาธรก็ถูกตั้งข้อสงสัยต่อว่า ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ วันที่ 19 มีนาคม 2562 กลับมีผู้ถือหุ้นร่วมประชุม 10 คน ทั้งที่ควรจะเหลือ 8 คน

ธนาธรชี้แจงว่า หลังจากโอนหุ้นให้มารดาแล้ว ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2562 นางสมพรได้โอนหุ้นให้หลาน 2 คน จึงมีผู้ถือหุ้นบริษัทเป็น 10 คน และในวันประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว ตนเดินทางหาเสียงอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ทั้งวัน เป็นไปไม่ได้ที่จะมาร่วมประชุมผู้ถือหุ้น

เรื่องโอนหุ้นนี้สื่อไปตรวจตราสารการโอนหุ้นของ ธนาธร ที่ระบุว่าโอนหุ้นหมายเลข 1350001 ถึง 2025000 ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 โดยนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจากแบบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ วี-ลัค นำส่งต่อนายทะเบียน ซึ่งระบุว่าคัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ปรากฏว่าใบหุ้น 1350001-2025000 ระบุว่าลง วันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งก็แสดงว่าหุ้นหมายเลข 1350001-2025000 เพิ่งมีการออกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 หรือไม่

โทษซุกหุ้นคุก 1-10 ปี

ดังนั้น ในตราสารการโอนหุ้นที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นเลขหมายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 จึงขัดต่อข้อเท็จจริง และตั้งข้อสังเกตว่า ตราสารการโอนหุ้นลงวันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นการลงวันที่ย้อนหลังหรือไม่ 

หากเป็นการลงวันที่ย้อนหลัง แสดงว่าในช่วงที่สมัครรับเลือกตั้ง ธนาธรยังถือครองหุ้นธุรกิจสื่ออยู่ เข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตาม ม.98(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่า “(3)เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เขียนรับไว้ใน ม.42(3) คือ ห้ามถือหุ้นสื่อตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเลย

นอกจากนี้หากรู้อยู่แล้วว่าตนขาดคุณสมบัติ แต่ยังกระทำ มีโทษหนักทางอาญา คือ จำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-2000,000 บาท รวมทั้งถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 20 ปี

กระบวนการสอบสวนจะเริ่มต้นจาก กกต. ซึ่งเวลานี้มีผู้ยื่นคำร้องและกกต.รับไว้สอบสวนแล้ว หากกกต.เห็นว่าเข้าข่ายขัดกฎหมาย ก็จะส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป

‘ธนาธร’ ส่อตกม้าตาย ปมถือหุ้นสื่อ

ดาบ 2 คดีโอนทรัพย์สิน

ยังมีอีกคดีที่ศรีสุวรรณ ยื่นกกต.ให้ตรวจสอบธนาธร ว่ากระทำการเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม อันเป็นความผิดตาม ม.73 (5) ของพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ กรณีธนาธรระบุช่วงรณรงค์หาเสียง อ้างว่าเป็นนักการเมืองคนแรกที่ใช้แนวทาง Blind trust คือโอนทรัพย์สินมูลค่า 5,000 ล้าน บาท ไปให้ trust หรือกองทุนเป็นผู้ดูแล สำนักงาน กกต.ได้สั่งรับเรื่องร้องเรียนไว้ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วเช่นกัน

ประเด็นเรื่องการโอนทรัพย์สินให้ทรัสต์หรือกองทุนดูแลเพื่อแสดงความโปร่งใสนี้ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโต้ว่าไม่จริง มีนักการเมืองหลายคนรวมทั้งตนที่เคยทำมาก่อนแล้ว

เรื่องนี้มีความเห็นต่างว่า ที่ผ่านมานักการเมืองโอนทรัพย์สินให้กองทุนดูแล เมื่อจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งทางการเมือง และยังต้องการรับประโยชน์จากหุ้นนั้นอยู่ ก็ให้โอนหุ้นส่วนที่เกิน 5% ให้ทรัสต์ดูแล ส่วนกรณีธนาธรนั้นเป็นการโอนทรัพย์สินให้ทรัสต์ดูแล ตั้งแต่ยังเป็นเพียงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลย จึงไม่เป็นการเกินจริงหรือหลอกลวง

อย่างไรก็ตาม หาก กกต.วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนตาม มาตรา 73(5) ก็จะมีบทลงโทษตามมาตรา 195 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

2 คดีอาญา 2 กระทงลุ้นคุก 14 ปี

นอกจากมรสุมจากกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ธนาธร ยังเจอข้อกล่าวหาในคดีอาญาอีก 2 คดีคือ

คดีแรกเป็นคดีที่ธนาธรได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.ปทุมวัน ในคดีที่พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. กล่าวหาธนาธรผิดประมวลกฎหมายอาญา 2 ข้อหา คือ ความผิดตามม.116 ร่วมกันทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และผิดม.189 ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุจากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 มีการจัดชุมนุมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ในช่วงรัฐบาลคสช. แกนนำการชุมนุมถูกออกหมายจับ กลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยนายรังสิมันต์ โรม พร้อมพวก จึงรวมตัวชุมนุมล้อมโรงพักปทุมวัน หลังการชุมนุมทหารตำรวจออกติดตามผู้มีหมายจับ รวมถึงนายรังสิมันต์ โรม กับพวกที่ไหวตัววิ่งหลบหนีการจับกุม จากนั้นมีรถตู้มารับตัวพาไปหลบซ่อนการจับกุม

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ารถตู้ดังกล่าวเป็นของมารดานายธนาธร รวมทั้งวันเกิดเหตุธนาธรก็ปรากฎตัวในที่ชุมนุมด้วย จึงออกหมายจับดังกล่าว

คดีนี้เริ่มเดินหน้าโดยธนาธร ยืนยันเดินทางพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ้อยคำวันที่ 6 เมษายนนี้

อีกคดีเป็นกรณีพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ส่งสำนวนคดี พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องในคดีอาญา ระหว่าง คสช. โดยพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนพรรค น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค เป็นผู้ต้องหาที่ 1-3

ในความผิดพ.ร.บ.การ กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอม พิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จากกรณีธนาธรกับพวก ร่วมจัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจอนาคตใหม่-The Future We Want และเพจ Thanathorn Juangroongruangkit วิจารณ์กระแสข่าวกรณีพลังดูดของ  คสช. ในช่วงเริ่มเคลื่อนไหวตั้งพรรคพลังประชารัฐ 

คดีนี้อยู่ระหว่างพนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติม

เป็นวิบากกรรมที่รุมเร้าธนาธรอยู่ในเวลานี้ 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3459 ระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายน 2562

‘ธนาธร’ ส่อตกม้าตาย ปมถือหุ้นสื่อ