กกต. เล็งเคาะ "สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์" สัปดาห์หน้า

02 เม.ย. 2562 | 04:33 น.


กกต. คาดสัปดาห์หน้าเคาะสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ แจงเป็นคณิตศาสตร์ที่นำมาเขียนเป็นกฎหมาย เร่งรวบรวมทุกความเห็นจาก "กรธ.-สนช." ย้ำ! ไม่มีธงแจกใบเหลือง-ใบแดง

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้เปิดเผยสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลีสต์) ว่า สูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ นั้น กกต. ยังไม่มีมติว่าจะใช้แบบใด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ แม้ว่าสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส. แต่ก็ต้องมีต้นแบบการคำนวณ ซึ่ง กกต. จะได้รวบรวมทุกความเห็นและข้อโต้แย้ง รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คำตอบกับสังคม

"อย่าลืมว่า กกต. ไม่ได้เป็นผู้ร่างกฎหมาย เป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย และยืนยันว่า ที่ผ่านมา กกต. ยังไม่ได้เริ่มคำนวณเลย ส่วนเรื่องจุดทศนิยม หรือ การปัดเศษต่าง ๆ ผมยังไม่ขอตอบ แต่ขอให้มั่นใจว่า กกต. รับฟังทุกข้อโต้แย้ง"

 


เมื่อถามว่าจะต้องเชิญอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาให้ความเห็นหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า สูตรคำนวณเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ที่นำมาเขียนเป็นกฎหมาย กกต. จึงต้องรับฟังทั้งความเห็นของ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า มีเจตนารมณ์ในการเขียนกฎหมายและการตีความกฎหมายนี้อย่างไร เมื่อ กกต. มีมติออกมา ก็จะเผยแพร่และชี้แจงกับประชาชน

"ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้กดดันการทำงานของ กกต. เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตีความและวินิจฉัยไปตามข้อกฎหมาย"

ส่วนที่มีการล่ารายชื่อถอดถอน กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่เราก็ได้ชี้แจงไปหลายประเด็น ทั้งข้อสงสัยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง โดย กกต. ได้เปิดเผยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนการเก็บรักษาบัตร การส่งบัตรเลือกตั้ง สำหรับข้อสงสัยที่เกิดในช่วงหลังเลือกตั้ง เราก็พยายามชี้แจง แต่อาจไม่ทัน เพราะมีเยอะมาก จึงขอให้ฟังเหตุผลด้วย ในสังคมประชาธิปไตยยึดเหตุผลเป็นหลัก

 


ส่วนการประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้งนั้น คณะอนุกรรมการทั้ง 35 ชุด ต้องทำหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นในสำนวนการสอบสวน โดยผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ดังนั้น ข่าวที่ระบุว่า กกต. ตั้งเป้า หรือ มีธงไว้แล้วประมาณ 110 เขต จึงไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้อง ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

โดยขณะนี้ มีคำร้อง 264 เรื่อง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นสำนวนทั้งหมด เพราะจะรับไว้สอบสวนต่อเมื่อคดีมีมูลความผิด โดยมีสำนวนคดีที่ กกต. รับไว้สอบสวนแล้ว 142 สำนวน และยังมีคำร้องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 147 เรื่อง โดยประเด็นเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด