ผ่าปมร้อนประมูล "ดิวตี้ฟรี-รีเทล" สุวรรณภูมิ

24 ก.พ. 2562 | 13:28 น.
ยังต้องรอให้การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ของรัฐบาล ประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนด้วย ทอท. จึงจะเริ่มเปิดประมูลดิวตี้ฟรี-รีเทลในสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ภายในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อหาเอกชนเข้ามาดำเนินการโครงการได้ภายในเดือน ก.ย. 2562 ก่อนที่คิงเพาเวอร์จะหมดสัญญาในวันที่ 27 ก.ย. 2563 เพราะในร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่นี้ มีกำหนดให้ท่าอากาศยานต้องปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว


➣ รวมดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน

แม้ ทอท. ยังไม่ยอมเปิดเผยร่าง TOR นี้ จนกว่ากระบวนการทางกฎหมายจะแล้วเสร็จ แต่เบื้องต้น ชัดเจนว่า ในส่วนของสัญญาดิวตี้ฟรีจะมีการรวมพื้นที่ดิวตี้ฟรีใน 4 สนามบินในการเปิดประมูลครั้งนี้ เพราะรายได้ดิวตี้ฟรี 95% จะอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่ ผู้โดยสารใน 3 สนามบินภูมิภาค อย่าง หาดใหญ่ มีผู้โดยสาร 3 ล้านคน เชียงใหม่มีผู้โดยสารราว 7-8 ล้านคน ภูเก็ตมีผู้โดยสาร 10 ล้านคน การใช้จ่ายดิวตี้ฟรีจึงมีไม่มาก


➣ สมาคมค้าปลีกออกโรงค้าน

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สมาคมไม่เห็นด้วยที่ ทอท. จะนำสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง มารวมประมูลด้วย เพราะสนามบินแต่ละแห่งมีลักษณะต่างกัน การกำหนดหลักเกณฑ์ก็ควรแยกจากกัน โดยสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง มีพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 1,000-1,200 ตร.ม. เท่านั้น ทางสมาคมเห็นด้วย หาก ทอท. จะนำสนามบินภูมิภาค 3 มารวมประมูลเป็นสัมปทานแบบรายเดียว

แต่สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 1.2-1.5 หมื่นตารางเมตร และมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 60 ล้านคน ควรกำหนดหลักเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้ามากกว่าสัมปทานแบบรายเดียว


MP10-3447-A

แยก Pick up ปลดล็อกปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดประมูลรอบใหม่นี้ มีความแตกต่างกับการประมูลเมื่อปี 2549 ตรงที่มีการนำพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี หรือ Pick Up เคาน์เตอร์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มาแยกประมูลเป็นอีกสัญญา จากในอดีตที่ไม่เคยมี ทำให้ดิวตี้ฟรีในเมืองไม่มีจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินสุวรรณภูมิ แต่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมองว่า ควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะเข้าประมูลสัมปทานในกรณีนี้ ต้องไม่ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง หรือ มีส่วนได้เสียในสัมปทานดิวตี้ฟรี


➣ อัพค่าตอบแทนขั้นต่ำเกิน 20%

อีกจุดหนึ่งที่จะเห็นความแตกต่าง คือ การกำหนดค่าตอบแทนขั้นตํ่าสำหรับการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่รีเทลในครั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดที่มากกว่า 15-20% หรือมากกว่าที่คิงเพาเวอร์จ่ายอยู่ 1,500-2,500 ล้านบาทต่อปีแน่อน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารปัจจุบันมีการเติบโตสูง หากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงพื้นที่ใหม่ในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่นำมาเปิดสัมปทาน

ส่วนการแข่งขันของเอกชนก็จะยิ่งรุนแรงกว่าอดีต เพราะวันนี้ ธุรกิจดิวตี้ฟรีและรีเทลในสนามบินเป็นธุรกิจที่ทำรายได้นับแสนล้านบาท และเติบโตตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ไม่แปลกที่ 6 บริษัทใหญ่ในธุรกิจนี้ ต่างก็อยากลงสนามกันถ้วนหน้า

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3447 ระหว่างวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว