GIC ทิ้งหุ้นไทย! เทขาย 10 บจ. ขนเงินออกแสนล้าน

27 ม.ค. 2562 | 01:06 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เปิดไส้ใน GIC ลดพอร์ตการลงทุนหุ้นไทยเหลือมูลค่ารวมปี 2561 เพียง 6.72 หมื่นล้านบาท ใน 10 บริษัทใหญ่ LH, TU, PTT, CPALL, BH ฯลฯ ชนวนฟันด์โฟลว์ไหลออก แต่ยังเพิ่มนํ้าหนักลงทุนในหุ้นแบงก์ใหญ่ ทั้ง SCB, KBANK, BBL โบรกฯ มองเป็นการปรับพอร์ตโยกลงในตลาดจีน-EM คาดไหลเข้าไทยไตรมาส 2 นี้

ปี 2561 ที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติได้ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากเป็นประวัติการณ์สูงถึง 287,459 ล้านบาท สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็มาจากการขายของ GIC (Government of SingaporeInvestment Corporation) หรือ กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ ร่วมแสนล้านบาท

จากการรวบรวมข้อมูลการถือหุ้นของ GIC ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ถืออยู่ในหุ้นไทยรวม 19 บริษัท เป็นมูลค่า ณ ราคาหุ้นปิดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 รวม 67,234 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า GIC ได้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยถึง 10 บริษัท ได้แก่ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ล่าสุดถืออยู่ 8.0% ลดลงจากที่ถือถึง 8.2%, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ล่าสุดถือ 1.1% ลดลงจากที่ถือ 0.6%, ปตท. (PTT) ล่าสุดถือ 0.8% ลดลงจากที่ถือ 0.1%, CPALL ล่าสุดถือ 1.1% ลดลงจากที่ถือ 0.1% ฯลฯ


MP17-3439-A

ขณะเดียวกัน GIC ได้ถือหุ้นเพิ่ม 7 บริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ล่าสุดถือสัดส่วน 1.2% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.6%, ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ล่าสุดถือ 0.9% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.4%, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ล่าสุดถือ 1.7% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.1%, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ล่าสุดถือ 4% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 1.1%, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ล่าสุดถือ 0.7% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.1%, ไทยออยล์ (TOP) ล่าสุดถือ 0.7% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.1% และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ล่าสุดถือ 4.0% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.4%

ขณะที่ ยังคงสัดส่วนหุ้นที่ถือใน บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) 2.1% และพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 0.7%

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า GIC Private Limited ได้ลดสัดส่วนหุ้น LH มากสุด โดยขายออกถึงจำนวน 977.82 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.12% เป็นมูลค่ารวม 11,949 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 10.90 บาท ซึ่งเป็นการขายออกอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยถือในปี 2558 สัดส่วน 16.55% ลงมาเหลือ 16.22% ในปี 2560 และในปี 2561 ขายออกในสัดส่วนถึง 8.2%

"การลงทุน GIC จะบริหารแบบ Passive Fund ที่เป็นการลงทุนตามดัชนี และสาเหตุที่ปีที่แล้ว GIC ขายหุ้นไทยออกไปมาก จนเป็นเหตุให้ฟันด์โฟลว์ไหลออก ก็เพื่อไปเพิ่มนํ้าหนักลงทุนในตลาดหุ้นจีนตามการแมเนจของกองทุนที่ต้องการไปลงในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market : EM) จริง ๆ ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยอาจจะพ้นจากการเป็น EM ไปแล้ว ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมา MSCI ได้เพิ่มนํ้าหนักการลงทุนหุ้นจีน A-Share ในดัชนี MSCI EM Index จึงเป็นไฟต์บังคับที่กองทุนนี้ต้องโยกการลงไปตลาดจีนและ EM ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน หรือ เศรษฐกิจไทยไม่ดี" แหล่งข่าวกล่าว

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ทุนต่างประเทศคาดจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 หลังกำหนดวันเลือกตั้งแล้วเป็นวันที่ 24 มี.ค. 2562 ประกอบกับการที่เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลดีฟันด์โฟลว์จะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยคาดดัชนีหุ้นไทยไตรมาสแรกจะปรับขึ้นแตะระดับ 1700-1750 จุดได้

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ปี 2562 จะเป็นปีที่มีเงินทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย หลังจากที่กำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนขึ้น โดยทั้งปีเงินทุนต่างชาติน่าจะไหลกลับมาประมาณครึ่งหนึ่งของปี 2561 ที่ไหลออกไป เพราะปัจจุบัน สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถืออยู่ในหุ้นไทยเพียง 29% เกือบตํ่าสุดในรอบ 14 ปี ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1-24 ม.ค. 2562 ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิแล้ว 4,212 ล้านบาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,439 วันที่ 27-30 มกราคม 2562

595959859