เบื้องหลัง ครม.เคาะคุมราคายา-ค่ารักษาพยาบาล อีก 2 สัปดาห์ได้ข้อสรุป

22 ม.ค. 2562 | 14:30 น.
ประยุทธ์-2 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 22 ม.ค. 2562 ซึ่งมีมติเห็นชอบให้เพิ่ม ยา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์และบริการรักษาพยาบาล เป็นสินค้าควบคุมประจำปี 2562 โดยวาระดังกล่าวเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นวาระที่ใช้เวลาในการถกเถียงกันนานประมาณ 10 นาที เนื่องจากไม่เคยมีการเสนอให้กลุ่มสินค้าและบริการกลุ่มนี้ถูกควบคุมมาก่อน

อ่าน | "สนธิรัตน์" เผยตั้งอนุฯถกรายละเอียดควบคุมราคายา ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย 

โดยในที่ประชุม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามกระทรวงพาณิชย์ว่าการขึ้นบัญชีสินค้าควบคุมแล้วจะมีผลทันทีเลยหรือไม่ ซึ่งรมว.พาณิชย์และตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ช่วยกันชี้แจงว่า เรื่องราคายา เวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาล มีการร้องเรียนมาที่กระทรวงจำนวนมาก แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปทำอะไรได้ ทั้งนี้การควบคุมครั้งนี้จะมีเงื่อนไขอีกเล็กน้อยไม่ใช่ขึ้นบัญชีแล้วการบริการและสินค้าจะมีการควบคุมราคาทันที เพราะครั้งนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณารายละเอียดว่า ยา เวชภัณฑ์ และการรักษายาบาลประเภทใดต้องกำหนดราคาอย่างไร ซึ่งมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป

“แต่ความแตกต่างระหว่างการขึ้นและไม่ขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม ถ้าไม่มีการขึ้นบัญชีก็ไม่สามารถมีแนวทางเข้าไปควบคุมได้ ไม่สามารถกำหนดหรือเข้าไปทำอะไรได้ แต่เมื่อขึ้นบัญชีแล้วกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจในการเรียกดูรายการบัญชีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์ได้ เพื่อกำหนดเพดานในการกำหนดราคาได้ สิ่งที่สังคมกังวลคือ ต้องกำหนดเป็นราคาเท่าไรจึงจะเหมาะสม ต้องควบคุมอย่างไร จึงตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา

ส่วนเงื่อนเวลาจะเร็วหรือช้าแค่ไหนกระทรวงพาณิชย์ทราบดีและเข้าใจดีที่จะเร่งเชิญประชุมอนุกรรมการชุดนี้ เพื่อกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้เป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ต้องนำกลับมาพิจารณาในครม.อีกแล้ว”

[caption id="attachment_377829" align="aligncenter" width="500"] เบื้องหลัง ครม.เคาะคุมราคายา-ค่ารักษาพยาบาล อีก 2 สัปดาห์ได้ข้อสรุป เพิ่มเพื่อน [/caption]

ด้านนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข บอกว่าเห็นด้วยที่จะมีมาตรการควบคุม พร้อมกับแจ้งว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็สนับสนุนที่จะมีการควบคุมราคายา แต่เรื่องนี้ต้องหาจดความพอดีให้ได้ เพราะปัจจุบันก็มีการบังคับใช้พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งควบคุมสถานพยาบาล กำหนดในกฎหมายอยู่แล้วว่าสถานพยาบาลทุกแห่งมีความจำเป็นต้องกำหนดและประกาศค่ารักษาพยาบาล รวมถึงราคาการให้บริการต่างๆให้ทราบโดยทั่วกัน ไม่สามารถกำหนดด้วยโรงพยาบาลตัวเองได้ และต้องเปิดเผยราคาการใช้บริการด้วย อีกทั้งที่ผ่านมามีการขยายโรงพยาบาลเอกชนไปทั่วประเทศ ความแตกต่างระหว่างค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ของโรงพยาบาลของรัฐ กับโรงพยาบาลเอกชนมีความแตกต่างกันมาก จึงต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนปฏิบัติตามกฎหมายด้วย

รายงานข่าว ระบุด้วยว่า แม้กระทรวงพาณิชย์จะไม่ได้แจ้งกรอบเวลาในการทำงานให้ครม.รับทราบด้วย แต่กระทรวงมีแนวคิดว่าจะตั้งและคณะอนุกรรมการประชุมให้เร็วที่สุด คาดว่าจะตั้งและเชิญประชุมหารือและมีข้อสรุปได้ภายใน 2 สัปดาห์นับแต่วันที่ครม.มีมติ ซึ่งสาเหตุเบื้องลึกที่ต้องตั้งอนุกรรมการเพราะเรื่องนี้มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กระทรวงพาณิชย์จึงตัดสินใจขอตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา พูดคุยและชี้แจงอีกครั้ง



นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติ ครม.ที่เห็นชอบให้ยาเวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์และบริการรักษาพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุมใหม่ ปี 2562 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า วันนี้เป็นวันที่ครบกำหนด 1 ปี บัญชีรายการสินค้าและบริการที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุม โดยเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่ามีการร้องเรียนเรื่องราคาของยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เข้ามา อย่างเช่น หน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งสามารถกรองฝุ่นขนาด PM2.5 ได้ ก็เป็นหนึ่งในสินค้าเวชภัณฑ์ที่หากไม่มีการขึ้นบัญชีควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่สามารถดูแลเรื่องราคาเหมือนกับช่วงที่เกิดเหตุมลพิษทางอากาศในหลายพื้นที่เพราะเมื่อสินค้าขาดตลาดก็ต้องควบคุมราคาให้มีความเป็นธรรม

“ขอทำความเข้าใจว่าวันนี้ไม่ใช่ว่าทั้งหมดถูกควบคุมแล้วด้วยราคาที่กำหนดเท่านั้นเท่านี้ ก่อนที่จะมีการควบคุมจะมีการหารือโดยคณะอนุกรรมและภาคีที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนก่อน ทั้งฝ่ายผู้บริโภค ฝ่ายโรงพยาบาล ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพสาธารณสุข ก็อยู่ในอนุกรรมการชุดนี้ โดยจะเชิญมาประชุมเพื่อหาแนวทางและกำหนดอัตราราคาที่เหมาะในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องขึ้นบัญชีเอาไว้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการที่เรียนไปจะไม่สามารถเรียกหน่วยงานต่างๆมาควบคุม”


เมื่อถามว่าคณะอนุกรรมการใช้เวลานานเท่าไรในการพิจารณา นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯได้มีการตั้งไว้คร่าวๆบ้างแล้วในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถ้าในอนาคตจะมีการควบคุมราคาอนุกรรมการชุดนี้ก็จะหารือเพื่อหาจุดพอดี สมดุลระหว่างผู้บริโภค และผู้ที่ประกอบการ ส่วนจะต้องได้ข้อยุติเมื่อไรนั้นยังไม่มีการกำหนดว่ากี่วัน กี่เดือนจะเสร็จ แต่ตอนนี้เท่ากับว่ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์แล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะนำไปพิจารณาว่าจะกำหนดราคาอย่างไร

“เรียนว่าสินค้าอื่นที่มีการขึ้นบัญชีควบคุม ก็เป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์โดยตรงในการที่จะประกาศควบคุมราคาได้ทันที เพียงแต่ยา เวชภัณฑ์ การรักษาพยาบาลอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องฟังคำแนะนำ ข้อคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง”
595959859