'นีลเส็น' นำเข้าเครื่องมือวิจัย ฝ่าพายุดิจิตอลรับ "Big Data-AI-IoT" แรง

22 ม.ค. 2562 | 05:08 น.
ชี้! วิจัยตลาดเครื่องมือสำคัญ นักการตลาดใช้วิเคราะห์ข้อมูล "นีลเส็น โกลบอล" โดดร่วมหนุนไทยพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยี Nielsen Connect ต่อยอดข้อมูลจาก Mass Marketing สู่เทรนด์โลก Personal Life Marketing เสริม Soft Skill บุคลากร เผยผลวิจัยไทยติด Middle Income Trap แนะเร่งแก้ไขก่อนพ่นพิษหนักต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น AI Blockchain IoT ฯลฯ ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากการโดน Disrupt เพราะการปรับตัวไม่ทัน ขณะที่ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันอย่างชัดเจน หรือเรียกว่าเป็นปัจเจกมากขึ้น ดังนั้น นักการตลาดในยุคนี้จึงต้องอาศัยข้อมูลที่รอบด้าน การวิเคราะห์ที่แม่นยำและรวดเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภคล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องอาศัยความพยายามและระยะเวลาในการเก็บสะสม ดังนั้น การที่นักการตลาดจะทำการเก็บข้อมูลแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน บริษัทส่วนใหญ่จึงเลือกเข้าหาผู้ช่วยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data อย่างบริษัทวิจัยการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูล บทบาทของบริษัทวิจัยการตลาดในประเทศไทยจึงต้องปรับบริบทตัวเอง เพื่อให้ตอบโจทย์และความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

[caption id="attachment_376364" align="aligncenter" width="503"] สมวลี ลิมป์รัชตามร สมวลี ลิมป์รัชตามร[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "สมวลี ลิมป์รัชตามร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เบอร์ 1 ด้านวิจัยทางการตลาด ที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยมาแล้วกว่า 40 ปี และมีลูกค้าในมือกว่า 300 ราย

"สมวลี" บอกว่า เป้าหมายของนีลเส็น คือ การสำรวจ หรือ วัดข้อมูลให้ครอบคลุมทุกช่องทาง เช่น กลุ่มตลาด FMCG สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Fast Moving Consumer Goods : FMCG) จากอดีตจะมุ่งเน้นแค่การวัดจากโมเดิร์นเทรด โชวห่วย แต่เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไปหันไปจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น นีลเส็นก็พัฒนาการวัดไปสู่อี-คอมเมิร์ซ หรือ สื่อมีเดีย จากอดีตที่วัดเพียงสื่อออฟไลน์ อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ หนัง สื่อพิมพ์ อื่น ๆ ปัจจุบันก็พัฒนาเครื่องมือการวัดไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น

"วิสัยทัศน์ของนีลเส็นจะมุ่งเน้นการวัดข้อมูลให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมถึงช่องทางใหม่ที่เกิดขึ้น นั่นคือ ออนไลน์ ซึ่งการบริการของนีลเส็นแก่ลูกค้า จากเดิมลูกค้าในกลุ่ม FMCG จะได้รับแค่ข้อมูล Retail Index ทั่วไป เช่น ยอดขายยังไง ผู้บริโภคชอบอะไร เป็นต้น แต่ปัจจุบัน นีลเส็นสามารถเข้าถึงข้อมูล Loyalty Data ได้แล้ว คือ การเข้าไปถึงข้อมูลความชอบ วิถีชีวิตระดับบุคคล ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าในด้านของปฏิบัติงานให้สำเร็จง่ายขึ้น"


mp32-3437-a

สำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ นีลเส็นมุ่งไปใน 3 ด้าน คือ 1.การลงทุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ลูกค้า 2.การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับระบบหลังบ้านในด้านการบริหารจัดการ 3.การพัฒนาบุคลากรให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี

ล่าสุด บริษัทแม่ของนีลเส็นได้ทุ่มงบจำนวนมากนำเทคโนโลยี Nielsen Connect ในงานกลุ่มวิจัยการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลประเภท FMCG โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถวิเคราะห์ข้อมูล Consumer Analytics และ Suggest ได้ทันที ขณะที่ ธุรกิจมีเดียจะมุ่งเน้นเรื่องของ Total Audience Management วัดการเข้าถึงของสื่อทุกรูปแบบ ทั้งในออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งในวันนี้ นีลเส็นสามารถวัด VDO Pre-Roll Ads และ Content Rating ได้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาดสามารถกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น

"ปัจจุบัน รูปแบบการทำการตลาดเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ใช่การตลาดรูปแบบ Mass Marketing แต่เทรนด์ทั่วโลกกำลังไปสู่การตลาด Personal Life Marketing มากขึ้น ที่จะต้องมุ่งเน้นการเจาะระดับบุคคล เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าแต่ละคนที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคีย์หลักสำคัญของการทำธุรกิจ"

ขณะที่ ในด้านของระบบหลังบ้าน Machine Learning Intensive เข้ามาตอบโจทย์งานหลังบ้าน เนื่องจากนีลเส็นเป็นบริษัท Data Management ดังนั้น การมี Machine Learning เข้ามาช่วย จะทำให้ระบบบริหารจัดการภายในมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งในด้านของบุคลากร นีลเส็นได้มุ่งพัฒนาต่อเนื่อง และในปีนี้จะมุ่งเน้นเรื่องของ Soft Skill ของพนักงานให้มากขึ้น เนื่องจากนีลเส็นมองว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับ Technique Skill


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ของนีลเส็นจะเป็นกลุ่ม Global Company รองลงมา คือ Multinational Company หรือ บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ขณะนี้ กลุ่มที่น่าสนใจที่เริ่มเติบโตและเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น คือ กลุ่ม Local Giant บริษัทในประเทศที่เติบโตขึ้นและต้องการใช้ข้อมูลการตัดสินใจ เนื่องจากธุรกิจใดก็ตามเมื่อเติบโตขึ้น ความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามเช่นกัน ดังนั้น การมีข้อมูลเป็นตัวประกอบการตัดสินใจจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยง ดังนั้น บริษัท ๆ ต่างจึงยอมจ่ายค่าข้อมูล เพราะต้องการลดความเสี่ยง

สำหรับภาพรวมการใช้จ่ายเงินในตลาดกลุ่ม FMCG บริษัทมองว่า ในครึ่งปีแรกจะเป็นไปในทิศทางบวก หรือ เติบโต 2-3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากจะมีการเลือกตั้ง ฯลฯ ขณะที่ ภาพรวมมีเดียในกลุ่มสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อนอกบ้านยังโตต่อเนื่อง

"ธุรกิจที่มาแรงและน่าจับตามองในปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ธนาคาร และรถยนต์ โดยเฉพาะธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจะเห็นความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น และธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะเห็นการบริการขนส่งสินค้าที่แข่งเรื่องของราคา"

ขณะเดียวกัน นีลเส็นมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช่องว่างของประชากรอยู่มาก หรือ Middle Income Trap รวมทั้งกลุ่มฐานราก ซึ่งเป็นประชากรที่เป็นกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ ยังติดปัญหาเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือนสูง หากภาครัฐไม่สามารถแก้ตรงนี้ได้ ในอนาคตจะส่งผลให้ปัญหาต่าง ๆ ตามมาทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,437 ระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว