"ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย" กับความหลัง กว่าจะเป็น "โรงแรมดุสิตธานี"

03 ม.ค. 2562 | 13:41 น.

030162-2014 P__bF7Cw (1)

... ร่วม 49 ปี ที่ "โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพ" ตั้งตระหง่านต้อนรับอาคันตุกะ แขกบ้านแขกเมือง ราชวงศ์ หัวมุมถนนสีลม สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทย มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยแฝงไว้อวดต่างชาติอย่างสมศักดิ์ศรี โรงแรมที่บริหารโดยคนไทยที่ไม่ด้อยไปกว่าเชนโรงแรมอินเตอร์ เสายอดแหลมสีทองอยู่เหนืออาคารสัญลักษณ์โดดเด่นอยู่คู่กับคนกรุงมาช้านาน

แต่ก่อนที่จะมาเป็น 'ดุสิตธานี' ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ... ตอนหนึ่งของหนังสือ "คนแก่อยู่กับความหลัง" ที่เขียนโดย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด เขียนไว้เมื่อปี 2535 ขณะอายุ 70 ปี ผ่านมาเกือบ 27 ปี ขณะนี้ท่านผู้หญิงย่างเข้าสู่วัย 97 ปี แต่ก็ยังแข็งแรงและแวะเวียนมาใช้บริการห้องอาหารของโรงแรมเป็นครั้งคราว

 

[caption id="attachment_369461" align="aligncenter" width="503"] ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด[/caption]

ท่านผู้หญิง เล่าว่า เริ่มจุดประกายจากเรียนอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับเมืองไทยได้ขับรถตระเวนท่องเที่ยวและพักตามโมเต็ลต่าง ๆ ทำให้คิดว่า ธุรกิจโรงแรมคงเป็นอาชีพอิสระ เพราะเวลาไปพักแต่ละแห่งไม่เคยพบเจ้าของโรงแรมหรือผู้จัดการเลย ด้วยเป็นคนที่ชอบความอิสระ กลับมาเมืองไทยจึงเริ่มทำโรงแรมเล็ก ๆ ชื่อ 'ปริ๊นเซส' 60 ห้อง ที่ปากตรอกโฮเรียนเต็ล ถนนเจริญกรุง


 

จุดหักเหสร้าง 'ดุสิตธานี'

เมื่อทำโรงแรมเข้าจริง ๆ จึงรู้ว่า เหมือน "เข็นครกขึ้นภูเขา" การทำธุรกิจโรงแรมขณะนั้น ท่านผู้หญิงระบุว่า ต้องประหยัดทุกบาททุกสตางค์ เพราะกลัวเงินจะหมดก่อนสร้างเสร็จ เพราะใช้เงินทุนของคุณพ่อ-คุณแม่ แต่สมัยนั้นโรงแรมปริ๊นเซสก็มีสระว่ายน้ำเป็นโรงแรมแรกในประเทศไทย แต่ด้วยทำเลที่ตั้งสถานที่คับแคบขยับขยายยาก และเริ่มเก่าลงเรื่อย ๆ อีกทั้งเป็นที่เช่าที่พี่สาวจะเอาคืน บ่อยครั้งมีปัญหาน้ำไม่ไหล ไฟดับตลอด ส่วนแขกเข้าพักก็มีลูกเรือของสายการบินแพนอเมริกามาใช้บริการ ทำให้มีต่างชาติเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังได้รับคำติเตียนมาก ๆ เพราะโรงแรมไม่ดี มีข้อบกพร่องมาก จึงเป็นจุดให้คิดอยากสร้างโรงแรมที่สมบูรณ์แบบ


25 - Lobby [1990] whitney houston

ในปี 2508 ได้รับเชิญจากศูนย์เพิ่มผลผลิตกระทรวงอุตสาหกรรมให้ร่วมเดินทางประเทศญี่ปุ่น และได้เข้าพักที่โรงแรมโอกุระ (Okura Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีชื่อ มีนายโนดะ (Noda) เป็นประธาน และเขาได้แนะนำให้รู้จักกับนายชิบาต้า (Shibata) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโรงแรมโอกุระ และมีการพูดคุยถึงการทำโรงแรมที่กรุงเทพฯ แบบ Turn key และแบบกู้ระยะยาว ในที่สุดซิบาต้าก็ตกลงเป็นคนออกแบบให้

แบบใกล้เสร็จ บังเอิญได้เดินทางไปรวมประชุม PATA (สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก) ที่เมืองซีแอตเติล และได้ไปเยือนโรงงานสร้างเครื่องบินจัมโบ้เจ็ต ที่มีถึง 400 ที่นั่ง จึงได้เปลี่ยนแบบให้ล็อบบี้ใหญ่ขึ้น ให้มีล็อบบี้ 2 ชั้น ชั้นล่างสำหรับกลุ่มทัวร์ ชั้นบนสำหรับแขกวีไอพี และมีการแก้ไขแบบอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด


ทุนน้อย "เอาบ้าน-ที่ดินจำนอง"

เมื่อออกแบบแล้วเสร็จ ประเมินค่าก่อสร้างและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สูงถึง 450 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้มากเกือบเท่าตัว มีผู้แนะนำให้สร้างที่ละครึ่ง แต่คิดแล้วการสร้างภายหลังจะสร้างความไม่สะดวก ทั้งผู้ที่มาพักและผู้บริหาร จึงตัดสินใจทำทั้งหมดพร้อมกัน ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินมาได้อย่างไร

ขณะที่ บริษัทมีทุนจดทะเบียนครั้งแรกเพียง 40 ล้านบาท จึงได้ใช้วิธีการเชิญชวนผู้ที่เคารพและเพื่อน ๆ มาช่วยซื้อหุ้น ช่วงก่อตั้งบริษัท ได้อาสาสมัครของทุนร็อคกี้ เฟลเลอร์ เออร์วิน ชูแมน (Erwin Schuman) ที่เคยเป็นเจ้าของโรงแรมที่มีชื่อแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียมาเป็นที่ปรึกษา

ซึ่งขณะนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้หารือกับที่ปรึกษาและบอกถึงความต้องการ ว่า

1.ต้องการให้บริษัทดุสิตธานีจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจริง ๆ ช่วงนั้นยังไม่มีตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ทำ เพราะคนไทยยังไม่นิยมเอาเงินให้คนอื่นบริหาร จึงไม่กล้าจดทะเบียนมาก กลัวขายยาก

2.ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนครบ 100% เพียง 30-35% ก็พอที่เหลือจะกู้และใช้ระบบเงินผ่อนจาการซื้อสินค้า

3.มีทุนน้อย แต่ก็เตรียมที่ดินและบ้านมาจำนอง เพื่อหาทางช่วยบริษัทฯ

4.สร้างอาคารพาณิชย์ให้เช่า เพื่อให้เป็นลูกค้าโรงแรม และคิดค่าเช่าถูกกว่าธรรมดา เพื่อขอค่าเช่าล่วงหน้าหรือ 2 ปี เอามาช่วยโรงแรมอีกทางหนึ่ง

และประการที่ 5.ด้วยความที่เป็นผู้หญิงคนไทยทำงานตัวคนเดียว หาเงินด้วยตนเอง หากนายชูแมนสามารถทำโครงสร้างการเงินให้ได้ ก็จะช่วยให้โครงการนี้ง่ายขึ้น และได้ชื่อว่าช่วยให้ทำให้สำเร็จ

"ในที่สุด ชูแมนก็ช่วยทำ Projection Cost Profit and Loss 10 ปี ทั้งช่วยแก้แบบให้ เพิ่มทางรถวิ่งขึ้นชั้นสอง และช่วยแก้แบบให้ครัวเป็นจุดศูนย์กลาง ที่สามารถส่งอาหารไปยังห้องจัดเลี้ยงและภัตตาคารได้"


5 - Dusit Thani - night view from Lumpini Park

 

'ดุสิต' เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ยังเล่าอีกว่า ช่วงจดทะเบียนตั้งบริษัท หลายฝ่ายแนะนำให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะให้บริการแก่ชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เรียกง่ายและเข้าใจง่าย แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นโรงแรมคนไทย โรงแรมนี้อยู่ในประเทศไทย ควรใช้ชื่อไทย ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะการเขียนภาษาไทยจะต้องใช้ชื่อยาว ซึ่งถ้าผนวกหลายคำก็ยิ่งเรียกยากและยาวมาก และก็ไม่ชอบชื่อ 'แปซิฟิค' หรือ 'อิสเทิร์น' เป็นอันขาด

ครั้นเมื่อได้เช่าที่กับสำนักงานทรัพย์สินฯ แล้วได้ทำเครื่องสักการะบูชา มีดอกไม้ ธูป เทียน ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานอภัยที่จะต้องรื้ออาคารเก่า เมื่อไปถวายบังคม ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ในพระองค์ท่าน ก็ได้นึกถึงเมืองสมมติที่พระองค์ท่านได้พระราชทานนามอันเป็นเมืองประชาธิปไตย คือ 'ดุสิตธานี' และคำว่า 'ดุสิต' เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4 การออกเสียงก็ไพเราะ ความหมายและชื่อเป็นมงคลแก่ผู้ที่เข้าพัก คือ ได้อยู่บนสวรรค์ชั้น 4 และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงตั้งชื่อบริษัทว่า 'ดุสิตธานี' ซึ่งไม่มีใครเห็นด้วย แต่ก็ยอมตามใจ


JxL1VMaX (1)


ขณะที่ ช่วงก่อสร้างมีผู้แนะนำให้กู้แบบ Turn-Key กู้ตั้งแต่ออกแบบจนโรงแรมก่อสร้างแล้วเสร็จแน่ แต่เกรงว่าไม่ถูกใจจะแก้ไขไม่ได้ จึงตัดสินใจเป็นผู้รับเหมาเสียเอง โดยจ้างผู้รับเหมารายย่อย ประหยัดงบไปได้ 15-20% แม้จะเหนื่อยมาก แต่ไม่มีวิธีใดจะลดต้นทุนได้ จึงตัดสินใจยอมเหนื่อย ซื้อเสาเข็ม วัสดุตกแต่งซื้อเองทั้งหมด จนถึงจานชาม โดยมีเจ้าหน้าที่ของคณะผู้ออกแบบจากญี่ปุ่น 14 คน มาช่วยควบคุมงานและสอนผู้รับเหมาไทยด้วย ช่วงนี้แม้แต่ทำสวนบริเวณน้ำตก ไม่มีงบ ช่วงเย็นก็ซื้อต้นไม้มาลงปรับดินทำกับลูก ๆ ได้ลูกเมียคนงานมาช่วยบ้าง ต้นปาล์มทุกต้นที่นี่ท่านผู้หญิงจึงปลูกเองกับมือ


'ฟอร์จูน' ยกให้ติด 1 ใน 10 โรงแรมโลก

ในที่สุดโรงแรมดุสินตธานีก็สามารถเปิดให้บริการในปี 2513 ช่วง 2 ปีแรก ได้เชนโรงแรม WIH (Western International Hotels) เข้ามาบริหาร วัตถุประสงค์ของท่านผู้หญิงขณะนั้นจะเปิดดุสิตธานีให้ออกมา "ดีที่สุด" เท่าที่จะทำได้ และไม่ต้องการดึงพนักงานจากที่อื่น แต่จะทำการฝึกอบรมและสอนผู้ที่รับสมัครมาทำงานล่วงหน้า 6-8 เดือน โดยจ้างครูจากต่างประเทศมาฝึกอบรมทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ งานเปิดโรงแรมมีผู้ร่วมงาน 3,000 คนอยู่ทั่วบริเวณ และหลังจากนั้นไม่นาน หนังสือฟอร์จูนได้ลงว่า โรงแรมดุสิตธานีเป็นโรงแรม 1 ใน 10 ของโลก ที่มีที่ตั้งและสิ่งแวดล้อมที่ดี การออกแบบตกต่างและมีการบริการที่ดี แน่นอนว่าท่านผู้หญิงดีใจมาก


2 (1)

แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะโปรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าโรงแรมจะเปิดแล้ว แต่ด้วยปัญหามีค่าใช้จ่ายเกินกว่าทุนมาก ทำให้มีหนี้สินมาก แม้จะประหยัดทุกบาททุกสตางค์แต่ก็ไม่เป็นผล และด้วยเป็นคนที่รักษาคำพูด เมื่อถึงกำหนดต้องชำระหนี้ ค่าดอกเบี้ย แต่ไม่สามารถแตะต้องเงินในบัญชีของโรงแรมได้ จึงจำเป็นต้องยกเลิกการบริหาร WIH ในที่สุด เพราะไม่มีทางออก ข้าวของหรือแม้กระทั่งบ้านที่คิดว่าไม่กล้าแตะ แต่ก็ได้เอาไปจำนอง เอาเงินมาให้บริษัทเป็นค่าดอกเบี้ย ดังนั้น เมื่อยกเลิกการบริหารของ WIH สิ่งแรกที่ทำ คือ ไปทำงานฝ่ายบัญชี ดูว่าหนี้อันไหนต้องชำระก่อน อันไหนผ่อนได้ พยายามจัดสรรเงินให้ทัน พร้อมกับวางนโยบายเอาสิ่งที่ดีของไทยมาอวดชาวต่างประเทศ เช่น การจัดดอกไม้ ร้อยพวงมาลัย อาหารคาวหวานของไทย เอาออกมาบริการแทนอาหารต่างประเทศ พนักงานหญิงฝ่ายต้อนรับให้แต่งชุดผ้าไหมไทย เพื่อให้เห็นศิลปวัฒนธรรมไทยและความอ่อนช้อยของสตรีไทย รวมถึงให้ความสนใจตลาดในประเทศ


Margaret Thatcher

พนักงานสไตรค์เจ็บปวดที่สุด

เหตุการณ์ที่สะเทือนใจที่สุด ผู้ก่อตั้งเล่าไว้ คือ การสไตรค์ที่เกิดขึ้นในปี 2516 จากปัญหาทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ดุสิตธานีก็ได้ผลพ่วงจากเรื่องนี้ด้วย กระทั่งถึงขั้นปิดโรงแรม แม้จะรู้ดีว่า ... การหยุดนานเท่าไร เป็นการเสียหายมากเท่านั้น


17 - Mother elephant and Jumbo - pets of the hotel

การสไตรค์ขณะนั้น ลูกช้างแสนรู้ของโรงแรมชื่อ 'บิมโบ้' ที่ท่านผู้หญิงเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ถูกวางยาตาย
พนักงานไล่แขก ถือป้ายทั่วล็อบบี้ ปิดทางด้านข้าง ห้ามพนักงานที่จะเข้าเวรเข้า-ออก พนักงานชายที่สไตรค์คนหนึ่งไม่ใส่เสื้อผ้ากระโจนลงสระน้ำ มีการทำลายทรัพย์สิน ไล่แขก ถึงขั้นขู่เผาโรงแรม สร้างความเดือดร้อน วุ่นวายมาก เสียงดังไปถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งเป็นการรบกวนคนไข้ เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านผู้หญิงรู้สึกเสียใจมากที่ไม่สามารถทำอะไรได้ และแม้จะเป็นการทำลายเศรษฐกิจในช่วงนั้น แต่ก็ยังดีที่เหตุการณ์ไม่รุกลามไปโรงแรมอื่น ๆ

"ดิฉันทนไม่ได้ที่จะเห็นพนักงานที่เราได้เฝ้าอบรมฝึกฝนให้ความรู้ มีระเบียบวินัยของการทำงานในวิชาชีพนี้ แต่กลับแสดงความก้าวร้าว โหดร้าย ทารุณ ป่าเถื่อน ไม่มีสัมมาคารวะ ดิฉันถือว่าเป็นการทำลายวิชาชีพอย่างไม่สามารถหาสิ่งใดมาลบล้างได้ ดิฉันไม่ต้องการให้เขาเหล่านี้เข้ามาทำลายวิชาชีพนี้อีกต่อไป ถึงตกลงใจไม่เปิดโรงแรมและไม่รับพนักงาน 164 คน ที่สไตรค์กลับเข้าทำงาน"


สร้าง MRT เกือบไม่มีที่จอดรถ

หลังจากปิดโรงแรมเดือนเศษและกลับมาเปิดบริการใหม่ ท่านผู้หญิงพยายามที่จะไม่คิดถึงการสไตรด์ แต่ก็ไม่ได้ผล จึงมอบให้ คุณวรพงษ์และคุณสมพจน์ ปิยะอุย น้องชายเข้ามาดูแล แต่หลังจากการท่องเที่ยวชะลอตัวลงและมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นมาก ทำให้เกิดความวิตกว่า ดุสิตธานีจะสู้คู่แข่งขันไม่ได้และต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น

ในที่สุด ท่านผู้หญิงจึงกลับมาเข้ามาทำงานที่ดุสิตธานีใหม่อีกครั้ง และไม่กี่ปีคล้อยหลังลูกชายคนโต "ชนินทธ์ โทณวณิก" ซึ่งจบปริญญาโทด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยบอสตัส สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกสอนหนังสือที่จุฬาฯ เข้ามาเรียนรู้งานในตำแหน่งกรรมการบริหารในปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_369464" align="aligncenter" width="335"] ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด และชนินทธ์ โทณวณิก ลูกชายคนโต ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด และชนินทธ์ โทณวณิก ลูกชายคนโต[/caption]

ต่อมาในปี 2539 มีการประกาศเวนคืนที่บริเวณลานจอดรถเพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่งผลต่อโรงแรมมากและทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศที่เคยให้เงินกู้ชนิดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันกลุ่มดุสิตธานีไม่ต่อสัญญาเงินกู้ เพราะ รฟม. ต้องการเอาที่ดินลานจอดรถและสะพานทางขึ้น เพื่อสร้างสถานีและลานวางวัสดุก่อสร้างสำหรับสร้างอาคารใต้ดิน 5 ชั้น ช่วงก่อสร้างรถยนต์ไม่สามารถเข้าจอดได้ มีเพียงส่งแขกและวนออกทันที ซี่งจะทำให้ดุสิตธานีเป็นโรงแรมห้าดาวแห่งเดียวในโลกที่ไม่มีที่จอดรถ ส่งผลกับรายได้โดยตรง ท่านผู้หญิงจึงหาทางแก้ไข จนในที่สุดก็ไกล่เกลี่ยกันได้ในปี 2541 ซึ่งช่วงนั้นหลายคนคงพอจำได้ว่า ท่านผู้หญิงถึงขั้นเสียน้ำตาไปหลายครั้งหลายคราว กระทั่งออกมาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน


Oq7sExu_ (1) - Copy DTBK_Lobby Lounge 512413

... นี่เป็นเรื่องราวเพียงบางส่วนของตำนานโรงแรมดุสิตธานีที่ยืนหยัดให้บริการมาเกือบครึ่งศตวรรษ ถึงเวลาที่ต้องปิดฉากลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มกราคม 2562 เพื่อพบกับกันโฉมใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า


……………….

คอลัมน์ : ตื้น-ลึก-หนา-บาง โดย เรด ไลอ้อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เปิดโมเดลมิกซ์ยูส! 'ดุสิตธานี' มูลค่า 3.67 หมื่นล้าน
"กลุ่มดุสิตธานี" จับมือ 'ศิลปากร' อนุรักษ์เอกลักษณ์ของ "โรงแรมดุสิตธานีฯ" ก้าวสู่โฉมใหม่

บทความน่าสนใจ :
ตื้น-ลึก-หนา-บาง | ใหญ่ฟัดใหญ่ ศึกชิง "ดิวตี้ฟรี" ยกนี้ไม่ธรรมดา
ตื้น-ลึก-หนา-บาง | ใครคว้าเค้กหมื่นล้าน ปักหมุด แปลง A สถานีกลางบางซื่อ