ตลาดสินเชื่อบุคคลต้นปียังแผ่ว แบงก์ขับเคี่ยวเกมดันยอดโต/เฟ้นกลุ่มลูกค้าคุณภาพ

04 มี.ค. 2559 | 11:00 น.
แบงก์ยอมหั่นดอกเบี้ยถูกดันลูกค้าคุณภาพใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล/ป้องหนี้เสีย "ธนชาติ"เตรียมเคาะราคาแข่งกระทุ้งยอดหลัง 2 เดือนแรกแผ่ว ด้าน "ซีไอเอ็มบี ไทย" ล่อลูกค้าชั้นดีคิดอัตรา 9% ผ่อนไม่เกิน 1 ปี มั่นใจหนี้เสียต่ำแค่ 0.5% หลังชิมลางตลาดมาแล้ว ตั้งเป้าอนุมัติ 500 ล้านบาท จากเป้ารวมทั้งปีอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท พอร์ตคงค้างแตะ 1.3 หมื่นล้านบาท ด้าน "กรุงไทย" ฉลองครบ 50 ปี ชู Super Easy 18%

[caption id="attachment_35413" align="aligncenter" width="352"] ธีรนารถ พ่วงมหา  ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล  ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ธีรนารถ พ่วงมหา
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นางธีรนารถ พ่วงมหา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายในสัปดาห์นี้ธนาคารจะมีการเคาะลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลลง หลังจาก 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.59) ยอดสินเชื่อใหม่เข้ามาค่อนข้างน้อย ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อคู่แข่งทำตลาด ธนชาติจึงกำลังทบทวนเป็นการภายในว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ หากได้ข้อสรุปคาดว่าจะออกโปรแกรมใหม่ในช่วงเดือนเมษายนนี้

อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น กำหนดเป็นโปรแกรมที่มีระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อดึงยอดการปล่อยสินเชื่อเป็นช่วงๆ ไม่ได้เป็นโปรแกรมระยะยาว เบื้องต้นประเมินว่าลูกค้าเงินเดือนประจำการปรับลดดอกเบี้ยไม่ควรต่ำกว่า 17-18% หากต่ำกว่า 20% จะมีความเสี่ยงต่อผลขาดทุน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจไม่ควรต่ำกว่า 22% ซึ่งภายหลังจากไตรมาสที่ 3 ของปีก่อนธนาคารได้มีการปรับเงื่อนไขผู้กู้จะต้องมีภาระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 90% จากเดิมที่เคยให้สูงถึง 100% และพิจารณาตามเครดิตสกอริ่งที่นำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยและวงเงินสำหรับลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ธนาคารจะพิจารณาตามเครดิตสกอริ่งและรายได้ ซึ่งจะผันแปรตามความเสี่ยงลูกค้า เช่น กลุ่มลูกค้าทั่วไปรายได้ตั้งแต่ 2.5-4 หมื่นบาทต่อเดือน หากได้รับสกอริ่ง A ดอกเบี้ยที่คิดจะอยู่ที่ 20% กลุ่ม B ดอกเบี้ย 22% กลุ่ม C ดอกเบี้ย 24% กลุ่ม D ดอกเบี้ย 26% และกลุ่ม E จะไม่ได้รับการอนุมัติหรือปฏิเสธสินเชื่อ ขณะที่วงเงินการอนุมัติจะพิจารณาตามสกอริ่งเช่นเดียวกัน อาทิ สกอริ่ง A ได้วงเงิน 5 เท่า กลุ่ม B วงเงิน 4 เท่า กลุ่ม C วงเงิน 3 เท่า เป็นต้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยการกดเงินสดและผ่อนจ่ายในจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละงวดสูงสุด 60 งวด จะคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 20-26%

"ปีนี้เราตั้งเป้าภาพรวมธุรกิจค่อนข้างสูง โดยสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 6 พันล้านบาท จากยอดคงค้างอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยต่อเดือนจะต้องบุ๊กอยู่ที่ 500 ล้านบาท หากลดอัตราดอกเบี้ยคาดว่าน่าจะช่วยได้บ้าง"

ก่อนหน้านี้นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จากข้อมูลพบว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในระบบคงค้างที่มีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาท และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนกว่า 1 แสนล้านบาทต่อเดือน โดยจำนวนดังกล่าวมียอดผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระลูกค้าที่มีคุณภาพ ธนาคารจึงได้ออกโปรแกรมสินเชื่อบุคคลพิเศษแบบอเนกประสงค์ ออกมาเจาะกลุ่มผู้มีรายได้เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 9% ให้วงเงิน 5 เท่าของรายได้ ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 1 ปี เป็นอัตราถูกกว่าระบบที่คิดเฉลี่ยสูงถึง 18-28% หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่า 55% เช่น กู้เงิน 1 แสนบาท สามารถประหยัดภาระดอกเบี้ยได้ถึง 5-6 พันบาท เป็นต้น ทั้งนี้ลูกค้าที่จะเข้ามาขอสินเชื่อโปรแกรมดอกเบี้ย 9% จะต้องเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยมีภาระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 70% จึงจะผ่านการอนุมัติสินเชื่อได้

การออกโปรแกรมสินเชื่อส่วนบุคคลครั้งนี้ เป็นการมองสวนภาวะตลาดสินเชื่อบุคคลทั้งระบบที่คาดว่าน่าจะชะลอตัวจากการที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและภาระหนี้ต่อรายได้ของคนปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ธนาคารยังมองว่าลูกค้าบุคคลที่ดียังมีความต้องการในด้านสินเชื่ออยู่อีกค่อนข้างมาก จึงออกโปรแกรมดังกล่าวมาช่วยพยุงลูกค้าที่ต้องการเงินหมุนเวียน ระยะเวลาผ่อนชำระไม่นาน

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโปรแกรมดังกล่าวเบื้องต้นภายใน 3-4 เดือน วงเงินอนุมัติจะอยู่ที่ 500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจขอสินเชื่อแล้วประมาณ 200-300 ราย คิดเป็นยอดวงเงินประมาณ 5% ของวงเงินสินเชื่อปล่อยใหม่เฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คิดว่าจะไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพเห็นได้จากยอดการอนุมัติสินเชื่อจะสูงถึง 70% จากยอดอนุมัติสินเชื่อปกติทั้งพอร์ตอยู่ที่ 33-38% ประกอบกับก่อนหน้านี้ธนาคารเคยออกโปรแกรมในลักษณะดังกล่าวที่คิดอัตราดอกเบี้ย 9% พบว่ามีหนี้เอ็นพีแอลเกิดขึ้นประมาณ 0.5% จากวงเงินปล่อยทั้งสิ้น 200-300 ล้านบาท คาดว่าครั้งนี้เอ็นพีแอลคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

ขณะเดียวกันธนาคารยังมีโปรแกรมที่คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและระยะเวลาการผ่อนชำระเพิ่มทางเลือกสำหรับกลุ่มเงินเดือน 3 หมื่นบาทต่อเดือน หากระยะเวลาการผ่อนประมาณ 5 ปี จะคิดดอกเบี้ยที่อัตรา 18% หรือเลือกผ่อนระยะเพียง 3 ปี อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 15% ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนบุคคลภาพรวมอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท โดยยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท สิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลจะรักษาไม่ให้เกินระดับ 2% จากตอนนี้อยู่ที่ 2.4-2.5% ถือว่าต่ำกว่าระบบที่อยู่ 3-4%

สอดคล้องกับบมจ.ธนาคารกรุงไทยได้จัดโปรโมชันฉลองครบรอบ 50 ปี ลดดอกเบี้ยสินเชื่อกรุงไทย Super Easy เหลือ 18% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เพื่อสมนาคุณลูกค้าจากอัตราปกติ 20% ต่อปีโดยให้วงเงินกู้สูงสุด 5 เท่าของรายได้ ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่ต้องมีหลักประกันและไม่ต้องมีบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทย สำหรับผู้สมัครภายใน 31 มีนาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559