จี้ 'ประยุทธ์' ตรวจสอบ! ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์ฯ

17 ส.ค. 2561 | 05:17 น.
170861-1158

กลุ่มเครือข่ายต่อต้านทุจริต เตรียมร่อนหนังสือถึง "พล.อ.ประยุทธ์" ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 1.5 หมื่นล้าน หลังพบ สนพ. จ้างที่ปรึกษาเอกชนเป็นผู้พิจารณาปล่อยเงินสนับสนุน ชี้! ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์พวกพ้องตัวเอง กันรายใหม่ขอสิทธิ์

กำลังเป็นประเด็นร้อน กรณีการเปิดรับสมัครโครงการเพื่อการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้งบประมาณ 10,448 ล้านบาท ประจำปี 2562 ที่ล่าสุด ได้มีการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสของการเปิดรับสมัคร ที่มีระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน รวมถึงการพิจารณาโครงการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกตัวเอง

 

[caption id="attachment_306557" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี[/caption]

โดยในสัปดาห์นี้ ทางกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชันจะทำหนังสือยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้มาตรวจสอบกับการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ของรัฐบาลด้วย

นายดิษเดช หิรัญจิรคุณ รองประธานกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ภายในสัปดาห์นี้ ทางกลุ่มจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2562 ที่มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 10,448 ล้านบาท และงบประมาณปี 2561 ราว 5,200 ล้านบาท ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อไปดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียนและโรงพยาบาล

 

[caption id="attachment_306564" align="aligncenter" width="503"] ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ©enconfund.go.th ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
©enconfund.go.th[/caption]

โดยกลุ่มเห็นว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน มีความพยายามที่จะดึงอำนาจในการพิจารณาโครงการกลับไปอยู่ภายใต้บริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้พิจารณา ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 ทางรัฐบาลได้มีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมอบให้คณะอนุกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารกองทุน เป็นผู้พิจารณาโครงการ ซึ่งกลุ่มเห็นว่า การสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ โดยให้เอกชนเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองการให้การสนับสนุนโครงการนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และส่อไปในทางที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกตัวเองได้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาตรวจในจุดนี้

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 2560 มีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุนฯ แยกออกมาจาก สนพ. โดยมีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาพิจารณาให้การสนับสนุนในแต่ละโครงการ แต่นับจากวันที่ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากทาง สนพ. ขอไปพิจารณาโครงการเอง โดยจ้างบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทของอดีตข้าราชการ สนพ. มาดำเนินงานพิจารณาโครงการ และบริษัทนี้ได้ผูกขาดมาตั้งแต่ปี 2549 และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว เสนอให้คณะอนุกรรมการฯ เป็นเพียงผู้ลงนามเท่านั้น

 

[caption id="attachment_306567" align="aligncenter" width="503"] ©enconfund.go.th ©enconfund.go.th[/caption]

ทั้งนี้ ในการจ้างบริษัทเอกชนมาพิจารณาให้การสนับสนุนในแต่ละโครงการ ทางคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า มีโอกาสส่อไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกตัวเอง อย่างกรณีการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 2,500 ราย ตกรายละกว่า 1 ล้านบาท ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โรงเรียนและโรงพยาบาลรวมกันราว 1,100 แห่ง ค่าติดตั้งขึ้นอยู่กับขนาดโรงเรียนและโรงพยาบาล ตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท ก็มีการพิจารณาให้กับท้องถิ่นและเอกชนที่จัดซื้อจัดจ้างที่เป็นพรรคพวกตัวเอง

รวมทั้งกรณีล่าสุด ที่มีการเปิดรับสมัครโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ถึง 10 ส.ค. 2561 ก็มีความพยายามที่จะกันผู้ที่เสนอขอรับการสนับสนุนรายใหม่ออกไป โดยอ้างถึงเอกสารไม่ครบ หรือ การกรองเอกสารที่ไม่ตรงกับแบบฟอร์ม หรือหากเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีการบล็อก รายใหม่ไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ เป็นต้น ดังนั้น หากการพิจารณาดังกล่าวยังอยู่ในมือเอกชน เชื่อว่าการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองจะยังมีอยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด

 

[caption id="attachment_306568" align="aligncenter" width="387"] ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)[/caption]

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. ไม่ได้ใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ แต่ สนพ. เข้าไปช่วยการทำงานในงบประมาณปี 2562 เนื่องจากที่ผ่านมา มีทั้งงบประมาณปี 2561 เพิ่มเติม และงบประมาณปี 2562 ซึ่งแบ่งเป็น 2 งบประมาณ ดังนั้น จึงต้องแบ่งการทำงานเป็น 2 ทีม สนพ. จึงต้องเข้าไปช่วย

รวมทั้งระเบียบกองทุนได้มีการปรับใหม่ ที่จะเริ่มใช้ในปี 2562 ดังนั้น งบประมาณปี 2561 ยังเป็นระเบียบเดิม นอกจากนี้ การตัดสินใจจะต้องทันกับงบประมาณที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2561 โดยยืนยันว่า สนพ. ไม่ได้เข้าแทรกแซงอำนาจ ที่ผ่านมา การทำงานโปร่งใส มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการพิจารณาแต่ละโครงการ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,392 วันที่ 16-18 ส.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กองทุนหมู่บ้านจับมือสคบ. เรียนรู้กม.สิทธิผู้บริโภค หวังปชช.ไม่ถูกเอาเปรียบ
นายกฯพอใจแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯชี้ผลสำเร็จมากสุดรอบ 19 ปี

เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62